สธ. 8 ก.ค.-สธ.เสนอ ศบค.เร่งจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ปิดสถานที่ไม่จำเป็นในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เปิดแค่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หลังยอดป่วยตายโควิดพุ่งสูงสุด ชี้มาตรการดังกล่าวไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่ต้องทำและทำนาน 14 วันเพื่อลดจำนวนป่วยตาย พร้อมใช้การตรวจ Rapid Antigen Test เสริม เพื่อทราบผลตรวจรวดเร็ว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงส์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติภาวะฉุนเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า วันนี้ (8 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอ ศบค.ให้จำกัดการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับระยะฟักเชื้อ หลังจากวันนี้พบตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสูงสุด 7,058 คน เสียชีวิต 75 คน และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวม 280,000 คน อีกทั้งนี้แนวโน้มผู้ป่วยในไอซียูมากขึ้น การเสนอเช่นนี้ยืนยันไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นการจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่เคหสถาน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด อนุญาตให้เดินทางได้เฉพาะในความจำเป็น เช่น พบแพทย์หรือไปฉีดวัคซีน พร้อมกับการปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็น และเหลือไว้เฉพาะพื้นที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ตลาด หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้เพื่อหยุดเชื้อเพื่อชาติ ส่วนศบค.จะพิจารณาอย่างไรนั้นก็แล้วแต่
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะนำเรื่องการตรวจเชื้อด้วย Rapid Antigen Test มาใช้ในสถานพยาบาลมากขึ้น เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพียงอย่างเดียว ที่ต้องใช้เวลานาน 3-5 ชั่วโมงหรือบางครั้งผลกว่าจะออกก็ข้ามวัน โดยวิธีการตรวจ Rapid Antigen Test จะใช้เวลาเพียง 20 นาที แต่หากผลเป็นบวกต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกครั้ง และหากพบว่ามีอาการป่วยเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์สีเขียวก็จะใช้วิธีการรักษาแบบ Home Isolation ร่วมกับ Community Isolation และหากรับการรักษาในรพ.ครบ 10 วัน ก็ให้กลับมา Home Isolation ที่บ้านจนครบ ทั้งนี้ได้ปรับเกณฑ์ Home Isolation ให้สามารถปฏิบัติได้ง่าย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการติดเชื้อครอบครัว จากเดิม Home Isolation ต้องแยกกักลำพัง สามารถอยู่ได้ภายในครอบครัว แต่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และสังคม ทั้งสวมหน้ากากอนามัย และ ล้างมือมีระยะห่าง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับในประชาชนทั่วไปต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลมากขึ้น ล็อกดาวน์ตัวเอง (Bubble and Seal ) เคร่งครัดสวมหน้ากาก ล้างมือ งดรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน โดยหน่วยงานต้อง WFH ให้ได้ร้อยละ 70 เพื่อลดการระบาด ขณะเดียวกันต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเร่งกระจายวัคซีนให้มากที่สุด เฉลี่ย 1-2 ล้านโดส ให้ฉีดให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้ว. 4 ล้านโดส .-สำนักข่าวไทย