สธ. 2 ก.ค.-“นพ.คำนวณ” เสนอนายกฯ-ศบค.-ผู้ว่าฯ ปรับแผนฉีดวัคซีนพุ่งเป้า ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำ 2 เดือน ก.ค.-ส.ค.ต้องเร่งฉีดให้ครบมิเช่นนั้นยอดตายพุ่ง พยากรณ์อัตราตายหากไม่แก้ไข เรื่องการฉีด ก.ค.อาจสูง 1,400 คน ส.ค. 2,000 คน และ ก.ย. อาจสูง 2,800 คน แนะช่วงนี้สถานการณ์วิกฤต งดพบปะใกล้ชิดกัน สนิทแค่ไหนให้ใส่หน้ากากอนามัย
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยาและที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนาเรื่อง “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินทางต่อไปอย่างไร” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของไทย อยู่ในระลอกที่ 3 และเป็นสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50 คน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์โควิดต่อจากนี้ อีก 2-3เดือนจะแย่กว่าเดิม โดยสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)จะค่อย ๆ เข้ามายึดครองพื้นที่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ กทม. มีสายพันธุ์เดลตาเข้ามายึดครองแล้วร้อยละ 40 ซึ่งสายพันธุ์เดลตามีความรวดเร็วในการแพร่กว่า อัลฟา 1.4 เท่า และหากคำนวณอัตราการเสียชีวิต ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบมี 992 คน แต่หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในเดือน ก.ค. จะมีผู้เสียชีวิต 1,400 คน,เดือน ส.ค.จะมีผู้เสียชีวิต 2,000 คน และเดือนก.ย. จะเสียชีวิต 2,800 คน ลำพังผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 900 คน ก็ถือว่าระบบเดินต่อไปไม่ได้ และค่อนข้างตึง ดังนั้นต้องเร่งหากทางออกในเรื่องนี้
นพ.คำนวณ กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หากผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ติดเชื้อ 100 คน จะมีคนเสียชีวิต 10 คน แต่หากเป็นกลุ่มคนอายุน้อย1,000 คนติดเชื้อจะมีผู้เสียชีวิตแค่ 1 คน ทั้งนี้อาวุธที่ดีที่สุดคือการให้วัคซีน แต่ต้องมีการกำหนดกลุ่มคนที่จะให้ และอยู่ในสถานะแบบพุ่งเป้า เพราะวัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลก รับรอง ไม่ต้องสนยี่ห้อ สามารถลดอัตราตายได้ร้อยละ 90 หากมีการฉีดวัคซีนจะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งเดิมเข้าใจว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้น ต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของประเทศร้อยละ 70 แต่ขณะนี้เนื่องจากเกิดปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ร้อยละ 70 อาจไม่เพียงพอต้องขยับเป็นที่ร้อยละ90 ซึ่งเรื่องนี้จะคล้ายกับในประเทศอังกฤษที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่ก็ยังพบคนติดเชื้ออยู่
นพ.คำนวณ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนนอกจากต้องมีวัคซีนฉีดไม่จำกัดแล้ว ขีดความสามารถในการฉีดต้องรวดเร็ว ยังต้องพุ่งเป้าฉีดในคนสูงอายุ และป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยต้องเร่งฉีดให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค. และส.ค.เพื่อควบคุมการระบาด ที่ผ่านมาแม้จะมีการฉีดใน ชุมชน รร. หรือ การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแม้เป็นความคิดที่ดีแต่จะทำแบบนี้ได้ เหมาะสำหรับ ประเทศที่มีวัคซีนพอ ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ไม่เผชิญกับปัญหาเรื่องวัคซีนมีจำกัด คาดว่าหากปล่อยให้มีการฉีดวัคซีนแบบปูพรม เช่นเดิมต่อไป อีก 5-6 เดือนก็ไม่เห็นผลในเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และคาดว่า 7-8เดือนกว่าจะฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและ7กลุ่มโรคได้ครบเพราะขณะนี้เหลือผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค ถึง 15 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีน
นพ.คำนวณ กล่าวว่า หากปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนมาแบบพุ่งเป้าใน ผู้สูงอายุ 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คาดว่าอัตราการตายในเดือน ก.ค.ก็จะไม่เกิน 1,000 คนและเดือน ส.ค.จะค่อยๆ ลดเหลือ 800 คน เดือนก.ย.ก็จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 600-700 คน พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี, ศบค.และผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องตกลงให้ชัดเจน ว่าจะฉีดให้กับกลุ่มไหนก่อน โดยแนะว่าควรฉีดแบบพุ่งเป้าหมายให้ผู้สูงอายุและคนป่วย 7 โรคเรื้อรังก่อน เปรียบเหมือนฉีดวัคซีนให้พ่อแม่ก่อน ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิชาการที่ใช้ในประเทศอังกฤษ โดยหลักการนี้ยังสามารถขยายมาเป็นเกณฑ์ฉีดให้กับแรงงานต่างชาติที่อยู่ในไทยด้วย โดยไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน แค่ฉีดในแรงงานอายุเกิน 60 ปีและป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
นพ.คำนวณ ยังกล่าวว่าเนื่องจากสถานการณ์เตียงยังวิกฤตและการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นประชาชน ควรจำกัดการพบปะใกล้ชิดกัน คนสนิทแค่ไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยง .- สำนักข่าวไทย