กรุงเทพฯ 1 ก.ค.-สปสช.ระดมความร่วมมือแกนนำชุมชน อสส. กทม. และเครือข่ายภาคประชาชน รุกจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้านและชุมชน เน้นทำงานแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. / รพ. เร่งแก้วิกฤติเตียงเต็ม พร้อมแนะดึง “กปท.” หนุนชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิด
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมหารือบทบาทของภาคประชาชนในการช่วยสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน (home & community Isolation) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อระดมความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่การแพร่ระบาดสีแดง ในการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว โดยมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เข้าร่วม 125 คน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน สปสช.ได้ดำเนินการเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายบริการรองรับและประชุมชี้แจงโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว นโยบายนี้จะเดินหน้าได้หรือไม่ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ผู้นำชุมชน และ อสส. ดังนั้น ในวันนี้ สปสช. จึงจัดการประชุมขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และประสานความร่วมมือในการดำเนินการ เพราะด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีรายงานอยู่ที่ 3,000-5,000 ราย/วัน ทำให้เกินศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแล จำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า อสส. แกนนำชุมชน ที่ทำงานอยู่ขณะนี้ทราบดีว่า การประสานหาเตียงผู้ป่วยขณะนี้ยากมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง เมื่อกรมการแพทย์ประกาศแนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่บ้าน เท่ากับว่า กฎหมายเปิดให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่การผลักภาระให้ชุมชนดูแล แต่เป็นการขอความช่วยเหลือจากชุมชน ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ เชื่อว่าชุมชนทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยแกนนำที่เข้มแข็ง มีความรู้เรื่องโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดอบรมให้ความรู้การรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยมีแกนนำชุมชน 70 คน จาก 23 ชุมชน ที่ผ่านการอบรมแล้ว นอกจากนี้ยังจะมีการจับคู่ระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล เพื่อให้มีการประสานการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน
“หากผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่อยู่ที่บ้านหรือในชุมชน หากขยับเป็นสีเหลืองเข้ม โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายจะรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่หากเตียงเต็มจะมีการประสานไปยังระบบกลางในการจัดหาเตียงให้ ซึ่งเชื่อว่าหลังการจัดระบบในกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวแล้ว จำนวนเตียงจะมากขึ้น เพียงพอรองรับผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้”
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมระบบสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีชุมชนเป็นฐาน และอาจนำไปสู่การพัฒนาการดูแลสุขภาพรูปแบบในอนาคต เบื้องต้นนอกจาก สปสช.จัดเพิ่มรายการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์สนับสนุนดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชนแล้ว ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ยังมี “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.)” เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในชุมชน ซึ่งในเขตพื้นที่ กทม. ยังมีงบประมาณนี้อยู่ ชุมชนต่างๆ สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ โดยจะมีเครือข่ายภาคประชาชนช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มงานที่ทางชุมชนทำกันอยู่แล้วให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย