ดีเอสไอ 30 มิ.ย.-ดีเอสไอ รวบผู้ต้องหาแอบอ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าหลอกขายเลขล็อกผ่านโซเชียล เหยื่อร่วมหมื่นคนเสียหายรวมเกือบ 40 ล้านบาท
พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมด้วยพันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาแอบอ้างชื่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหาย
โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมนายจาตุรงค์ งามเลิศศิริชัย ผู้ต้องหาคดีพิเศษที่ 3/2564 ตามหมายจับศาลอาญาที่ 981/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งเข้าตรวจค้นบ้านพักผู้ต้องหาในพื้นที่พุทธมณฑลสาย 4 เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม โดยพบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดจำนวนมาก และเตรียมแจ้งข้อหาตามกฏหมายฟอกเงินด้วย
คดีนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ร้องทุกข์ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด กรณี มีเอกสารที่กลุ่มมิจฉาชีพจัดทำขึ้นโดยแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และแอบอ้างชื่อผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการกระทำความผิด หลอกลวงประชาชนโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะให้เลขสลากที่ถูกรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้าในงวดถัดไปที่จะออกรางวัลและเรียกรับผลตอบแทน โดยส่งข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการใช้บัญชีโซเชียลมีเดีย ได้แก่ บัญชีแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) และบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) ชักชวนเป็นสมาชิกแล้วให้เลขเด็จทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและประชาชนร่วมหมื่นคนได้รับความเสียหาย
ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพบบัญชีธนาคารที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย จำนวน 9 บัญชี มีเงินหมุนเวียนในบัญชีประมาณ 37 ล้านบาท และจากการเข้าตรวจค้นที่พักของผู้ต้องหาสามารถยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้หลายรายการ ประกอบด้วย บ้านพร้อมที่ดิน เงินสดมูลค่า 5.5ล้านบาท บัญชีธนาคาร 33 บัญชี รถยนต์ BMW Z4 รถจักรยานยนต์ Honda Forza 350 รถจักรยานยนต์ Vespa อาวุธปืน 9 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืน พระเครื่อง นาฬิกาและเครื่องประดับมีค่าหลายรายการ รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดโอกาสให้ ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง และนำพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหาและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามขั้นตอนกฎหมาย ก่อนที่จะสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นทางคดี ส่งพนักงานอัยการต่อไป.-สำนักข่าวไทย