สธ.28 มิ.ย.-“อนุทิน” ย้ำใน สสจ.อสม. ร่วมรับมือแรงงานอพยพกลับบ้าน หลัง ศบค.สั่งปิดสถานที่ โดยบ่ายนี้เตรียมหารือผู้บริหารเมืองทองธานี ขอขยายเตียงใน รพ.บุษราคัม พร้อมเร่งฉีดวัคซีน สิ้น มิ.ย.ต้องครบ 10 ล้านโดส จากนั้น ก.ค.-ส.ค.ฉีดวัคซีนครบในสูงอายุและป่วย 7 กลุ่มโรค และเผยข่าวดี อภ.เตรียมเดินหน้าผลิตยารักษาโควิด-19 เอง ชื่อ “ยาฟาเวียร์” แทน ฟาวิพิราเวียร์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังหารือประชุมทางไกลร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์สาธารณสุข ถึงการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ว่า ได้กำชับให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด อสม.ในพื้นที่ ร่วมกันวางแนวทางในการแก้ไขและรับมือสถานการณ์โควิด หลังจากเริ่มพบมีแรงงานทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ภายหลัง ศบค.สั่ง ปิดสถานที่ชั่วคราว โดยให้ทุกฝ่ายร่วมกันบริหารจัดการ เขตสุขภาพของตนเองให้ดี และจัดทำแผนตั้งแต่ติดตามผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และ นำตัวไปกักใน Local quarantine คล้ายกับมาตรการเดิมในอดีต
พร้อมให้ความเชื่อมั่นเรื่องการรักษาพยาบาลว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำอย่างเต็ม พร้อมยอมรับขณะนี้เกิดความหนาแน่นเรื่องเตียงผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑล จึงทำให้ในบ่ายวันนี้(28มิ.ย.)เตรียมไปหารือกับผู้บริหารเมืองทองธานี เพื่อขอขยายเตียงของรพ.บุษราคัมให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังประสานเหล่าทัพ จัดหาเตียงสนามเพิ่ม 180 เตียง เพื่อเป็นโคฮอตวอร์ดไอซียู เช่น ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 และจะมีทีมแพทย์มาหมุนเวียนคอยดูผู้ป่วย
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับในเดือนมิ.ย.นี้ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 10 ล้านโดส ขณะนี้เหลือเพียง 900,000 โดสเท่านั้น เชื่อว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดโดยเฉพาะ 2 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มป่วย 7 โรคเรื้อรัง ภายในเดือน ก.ค. – ส.ค. พร้อมย้ำว่าการฉีดวัคซีนให้ได้รวดเร็ว ช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต ขณะเดียวกันมีข่าวดีว่าภายในเดือน ก.ค. อย.จะอนุมัติ ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถเดินหน้าผลิตยารักษาผู้ป่วยโควิด จากเดิมใช้ชื่อยาฟาวิพิเราเวียร์ เป็นยา “ฟาเวียร์”ได้แล้ว โดยคาดว่าเริ่มเดินหน้าผลิตในเดือน ส.ค.จำนวน 2 ล้านเม็ด และยังมียาที่นำเข้ามาร่วมเสริมอีกด้วย
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation) นั้น จะอยู่ภายใต้การการพิจารณาของบุคลากรการแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงก็มีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยัง รพ. โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มดำเนินการแล้ววันนี้ (28 มิ.ย.) เฉพาะพื้นที่ กทม.หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน.-สำนักข่าวไทย