สปสช. 14 มิ.ย.- รองเลขาฯ สปสช. รับเรื่องเยียวยาเบื้องต้นจากผู้สื่อข่าวเคเบิลทีวีรายหนึ่ง หลังมารดาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเสียชีวิต ย้ำขอแสดงความเสียใจและไม่มีใครต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่ขอให้มั่นใจว่า รัฐหาวัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้มาให้ และถ้าเกิดผลกระทบอะไรก็จะช่วยดูแล
วันนี้ (14 มิ.ย.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จากผู้สื่อข่าวของช่องเคเบิลทีวีรายหนึ่งใน กทม. ที่มายื่นคำร้องที่ สปสช.เขต 13 กทม. เนื่องจากมารดาได้เสียชีวิตลง หลังจากไปรับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มารดาของผู้สื่อข่าวรายนี้ มีอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง แต่ไม่มีประวัติแพ้ยาใดๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เช้าวันที่ 11 มิ.ย.64 เมื่อกลับบ้านแล้ว เช้าวันต่อมาพบว่ามีอาการนั่งนิ่ง เรียกไม่ตอบ หมดสติ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทางครอบครัวมั่นใจว่าเป็นผลจากการฉีดวัคซีน เพราะผู้เสียชีวิตมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
ผู้สื่อข่าวรายนี้ กล่าวว่า ทางครอบครัวยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดวัคซีน มีความเข้าใจและยอมรับผลกระทบ เช่น อาการไข้ ปวดหัว เป็นต้น แต่การสูญเสียแบบนี้คงไม่มีใครยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสูญเสียแล้วทางครอบครัวก็ต้องยอมรับ และอยากให้ทางรัฐยอมรับครอบครัวด้วยว่า การที่เกิดเหตุสูญเสียขึ้นนี้ ทางครอบครัวมีความตั้งใจร่วมมือฉีดวัคซีน และการสูญเสียเป็นผลจากวัคซีน ซึ่งเมื่อได้รับคำยืนยันจาก สปสช. ว่าจะดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือ ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ส่วนในเรื่องการเยียวยานั้น ต้องแยกกระบวนการพิสูจน์ว่ามาจากวัคซีนหรือไม่ ส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ส่วนของ สปสช. จะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเงินชดเชยเยียวยาเบื้องต้นจะไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด ไม่ได้รอผลการตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อใดก็ตามที่รับวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ หรือได้รับความเสียหายหรือสูญเสีย ก็จะรีบช่วยเหลือทันที โดยแบ่งการพิจารณาเป็น 3 สี คือ เขียว เหลือง แดง สีเขียวเจ็บป่วยต่อเนื่อง เช่น ไปฉีดวัคซีนแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ต้องไปนอนโรงพยาบาลดูอาการ 1-2 วัน เพดานเยียวยาไม่เกิน 1 แสนบาท สีเหลืองมีอาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ เพดานเยียวยาไม่เกิน 2.4 แสนบาท และสีแดงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เพดานเยียวยาไม่เกิน 4 แสนบาท
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หากมีผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วได้รับความเสียหาย สามารถยื่นเรื่องได้ 3 จุด คือ โรงพยาบาลที่ไปฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่ของ สปสช. อย่างเช่นในกรณีนี้ที่มายื่นที่ สปสช.เขต 13 กทม. ก็จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความเสียหลายหลังฉีดวัคซีนของ สปสช.เขต 13 กทม. พิจารณาภายใน 5 วัน
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 กันเยอะๆ เพื่อป้องกันการระบาด อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้เป็นของใหม่ สถิติที่ฉีดไปตอนนี้ 6.1 ล้านโดส มียื่นเรื่องเข้ามาประมาณ 500 ราย ส่วนมากเป็นอาการเล็กน้อย สีแดงมีประมาณ 10 ราย เมื่อเกิดเหตุเราก็จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลหาวัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้มาให้ และถ้าเกิดผลกระทบอะไร รัฐบาลก็จะดูแล” ทพ.อรรถพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย