กรมการแพทย์ 8 มิ.ย.-กรมการแพทย์จับมือกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ ให้มีความปลอดภัย ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำแนวทางการจัดการระบบฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคน รวมทั้งกลุ่มที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี (active) ติดบ้าน และ ติดเตียง ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยการจัดระบบบริการฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัย ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
โดยมีหลักการคือ มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง เช่น การใช้สื่อต่างๆ การสื่อสารผ่าน อสม. และผู้ดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุทุกรายเข้าถึงข่าวสารการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการประเมินความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยบุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม. และการช่วยเหลือการจองคิวโดยสามารถทำผ่าน call center หรือระบบตามที่แต่ละพื้นที่กำหนด
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบัน เวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การจัดบริการฉีดวัคซีนตามความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ คือ
1.กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี สามารถไปรับบริการในจุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
2.กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน คือกลุ่มที่ยังเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้เท้า เปลนั่ง (wheel chair) สามารถไปรับบริการในจุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป โดยจัดให้มีรถบริการรับส่งผู้สูงอายุไปยังจุดฉีดวัคซีน ซึ่งอาจขอความร่วมมือองค์การปกครองท้องส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หน่วยงานเอกชน มาร่วมให้บริการ และมีช่องทางด่วนเพื่อลดระยะการรอคอย
3.กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชน และผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการนำโรคโควิด-19 เข้าไปในสถานดูแลผู้สูงอายุจากการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและบุคลากรออกไปฉีดวัคซีนภายนอก โดยให้จัดรถพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ ทีมบุคลากรทางการแพทย์เช่นแพทย์หรือพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพขั้นสูง ที่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีพบอาการข้างเคียงอย่างรุนแรง โดยให้รอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่าการฉีดวัคซีนในจุดฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล
ทั้งนี้ การติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี ให้ติดตามผ่านระบบการใช้ระบบหมอพร้อม และ application smart อสม.เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มติดบ้านติดเตียงให้บุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม.เป็นผู้ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีนที่ 1, 7, 30 และ 60 วันหลังฉีดวัคซีน .-สำนักข่าวไทย