สำนักข่าวไทย 6 พ.ค.-สมาคมโรคติดเชื้อฯ ออกหนังสือ ยันให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เฉพาะคนมีอาการ มีโรคร่วม ไม่มีความจำเป็นต้องให้ยาในคนไม่มีอาการ หวั่นเชื้อดื้อยา
ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ลงนามในประกาศสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เรื่องคำชี้แจงเรื่อง การให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โดยระบุว่า ข่าวการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ ขอชี้แจงความเห็นของสมาคมโรคติดเชื้อ ดังนี้
- ผู้ป่วยจำนวนหลักพันคน นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์หลายแห่ง โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการ และไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ไม่ได้รับยาต้านไวรัสใด ๆ นอกจากยาตามอาการ ก็หายเป็นปกติได้
2.มีการศึกษาวิจัยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศญี่ปุ่น โดยให้ยาผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ ตั้งแต่วันแรกที่มาโรงพยาบาลเทียบกับรอไป 6วัน แล้วจึงให้ยา ปรากฎว่าทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้นจนมีภาวะปอดอักเสบ และผู้ป่วยหายได้ทุกราย
3.การรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เป็น ไปตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นโดยกรมการแพทย์ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจจากหลายสถาบันและแนวทางดังกล่าว มีการปรับปรุงมาเป็นระยะตามข้อมูลทางวิชาการที่มีมากขึ้น ในแนวทางการรักษาฯ ฉบับปัจจุบัน จะแนะนำให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สูงอายุ อ้วน มีโรคประจำตัว เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์จัดเป็นผู้ป่วยสีเหลือง
4.ทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ เข้าใจและรู้สึกขอบคุณในความปรารถนาดีของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ยาต้านไวสกับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุดและมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น (ผู้ป่วยสีเขียว)
ทั้งนี้ การให้ยาโดยไม่มีความจำเป็นจะเป็นแรงกดดันให้เชื้อดื้อต่อยาได้ง่ายขึ้นในอนาคตและอาจจะเป็นปัญหาในการรักษาตามมา ในขณะนี้ ควรจะสงวนยานี้ไว้สำหรับผู้ป่วยที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หากมีกระบวนการที่จะวินิจฉัยและจัดกลุ่มผู้ป่วยที่ฉับไว รวมทั้งการบริหารจัดการที่คล่องตัวเพื่อให้ผู้ป่วยที่ จำเป็นต้องได้ยา ให้ได้ยาตามเวลาที่เหมาะสม ก็จะเกิดความปลอดภัย และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาแก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแต่อย่างใด..-สำนักข่าวไทย