กรุงเทพฯ 5 พ.ค.- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ยันในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน ไม่ต้องจ่ายตั้งแต่ต้นจนจบ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาย้ำกรณีมีกระแสข่าวเรื่องการเข้ารับการรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชนต้องมีการจ่ายค่าส่วนต่าง นอกจากค่ารักษาพยาบาล และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยโควิดและครอบครัว โดยผู้ป่วยจะต้องจ่ายส่วนต่างของค่าห้องพัก ค่าห้องความดันลบ หรือค่ายาเพิ่มหากเกินวงเงินที่รัฐบาลกำหนด ยิ่งเป็นการซ้ำเติมต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ซึ่งกรม สบส.ต้องขอเรียนกับพี่น้องประชาชนทุกท่านว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล โดยผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้ารับสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตนเอง หรือสถานพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน หรือแม้มิได้เป็นผู้ป่วย แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการเข้าข่ายที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็สามารถเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาลใดก็ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น การขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติที่จะทำความยินยอมตกลงกับสถานพยาบาล
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บอกว่า หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ร้องเรียน รพ.เอกชนเก็บค่ารักษาโควิด โทร1426 สายด่วน กรม สบส.
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ขอให้สถานพยาบาลเอกชนรวบรวมเอกสารหลักฐาน สรุปค่าใช้จ่ายส่งให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่
1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม
และ 3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบ
หลังจากนั้น กองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน ในการเบิกจ่าย
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติ พบสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในต่างจังหวัดให้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ กรม สบส.ได้ทันที.-สำนักข่าวไทย