กรุงเทพฯ 2 พ.ค.-“สุชาติ” รมว.แรงงาน สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าที่ปิดกิจการ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับรายงานว่าลูกจ้างห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชยการเลิกจ้าง ก็ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จพบว่า บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด จำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของทางห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ หรือคลัง 2 ที่ต้องแบกรับภาระมาตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก จนปัจจุบันต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไป และได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 191 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้พูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกจ้างในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับจนเป็นที่พอใจ และมีหนังสือนัดนายจ้างมาพบในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง และให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับปัญหาการเลิกจ้างนี้ไว้แล้ว โดยในเบื้องต้นมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาบรรเทากรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และมีเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วันต่อปีปฏิทิน จัดหาตำแหน่งงานว่างมารองรับ และฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพตามที่ลูกจ้างสนใจ
ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กสร. ในฐานะโฆษกกรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเกิดขึ้น ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงาน เช่น อายุงาน 10 – 20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้หากสิทธิวันลาพักผ่อนยังเหลืออยู่ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินที่ลูกจ้างพึงได้รับด้วย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนลูกจ้าง 15 คน ได้มาพบพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อรับทราบขั้นตอนและวิธีการยื่นคำร้องสิทธิที่ไม่ได้รับเงินผ่านระบบ e-service ของกรมฯ และได้มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกจ้าง โดยกลุ่มลูกจ้างได้กลับไปประชุมหารือกับนายจ้างเกี่ยวกับเรื่องเงินต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่ได้รับสิทธิตามที่พึงได้สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งกรมจะดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป .-สำนักข่าวไทย