ดีเอสไอ 29 เม.ย.-ดีเอสไอรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกรณีบริษัทจำหน่ายถุงมือยางถูกกล่าวหาว่าหลอกต่างชาติ เสียหายเกือบ30ล้านบาท
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำเสนอข่าวกรณี นายพิเชษฐ สถิรชวาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการแนวทางส่งเสริมและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร นำผู้แทนผู้เสียหายมายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณี กล่าวหาว่าบริษัท พี แอนด์ เอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มีพฤติการณ์ในลักษณะส่อไปทางฉ้อโกงเกี่ยวกับการจัดซื้อซื้อถุงมือไนไตรแบบแพ็คเปลือย มูลค่าความเสียหายกว่า 37 ล้านบาทเศษ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นั้น
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 ที่สำนักงานเลขานุการกรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร มีผู้แทนของบริษัท พี แอนด์ เอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีสาระสำคัญว่าบริษัทได้ ตกลงทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางไนไตรแบบแพ็คเปลือย กับบริษัท เบาหยวนธง โฮลดิ้ง กรุ๊ป ฮ่องกง จำกัด จริง แต่เหตุที่บริษัทไม่ส่งสินค้าถุงมือยางให้กับบริษัทเบาหยวนธง โฮลอิ้ง กรุ๊ป ฮ่องกง จำกัด ผู้กล่าวหา ตามที่ทำสัญญากันเนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญาให้ถูกต้องสมบูรณ์และมีการบอกเลิกสัญญากับบริษัท พี แอนด์ เอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายปกติ มิใช่เป็นการฉ้อโกงระดับชาติดังที่มีการกล่าวหาบริษัทแต่อย่างใด และบริษัทพี แอนด์ เอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มิได้มีการแอบอ้างผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร แหลมฉบัง โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายผู้แทนบริษัทเพื่อ ให้เข้าพบและให้ข้อเท็จจริง รวมทั้งแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และมีแนวทางในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัท พี แอนด์ เอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มีข้อสงสัยเกี่ยวกับบุคคลที่พาผู้เสียหายมาร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ โดยขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาให้ความเป็นธรรม ซึ่งสำนักงานเลขานุการกรมได้รับเรื่องไว้แล้ว และส่งเรื่องให้กองบริหารคดีพิเศษประมวลเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อมีคำสั่งให้รวมเรื่อง และพิจารณาให้ความเป็นธรรมตามข้อเท็จจริง และประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังต่อไป
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านคดีจะเป็น ไปตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ที่มีมาตรฐานการปฏิบัติ งาน มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยรับฟังข้อเท็จจริงและพยาน หลักฐานทุกชนิดที่สามารถพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด .-สำนักข่าวไทย