กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – “รมว.สุชาติ” เผย “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ไฟเขียว ก.แรงงาน ลุยตรวจโควิด-19 เชิงรุกต่อ พร้อมเพิ่มมาตรการดับเบิล เว้นระยะห่าง คนเสี่ยงสูง มีไข้ ส่งตัวขึ้นรถไปรักษา รพ.ในเครือประกันสังคมทันที
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยกระทรวงแรงงานได้รับการประสานจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตนกับกระทรวงสาธารณสุข ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อ โดยให้เพิ่มมาตรการตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด ดังนี้
1) เว้นระยะห่างจาก 1.5 เป็น 2 เมตร 2) หากตรวจเจอว่าผู้ประกันตนรายใดมีความเสี่ยงสูงหรือไข้สูง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที 3) ส่วนผู้ที่มีผลเป็นบวกแล้วแสดงอาการจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะส่งเข้ารักษาที่ Hospitel
ทั้งนี้ ผมได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 ไว้ก่อนแล้ว จึงบูรณาการร่วมกับมหาดไทย และสาธารณสุข ดำเนินโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน ตรวจโควิด-19 เชิงรุกแก่ผู้ประกันตน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในโรงงาน จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุกภาคส่วน ให้อุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี ชลบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 20,000 คน ติดเชื้อกว่า 400 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 81 แห่ง ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะถูกส่งตัวไปยัง Hospitel ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเปิดสายด่วน 1506 กด 6 เป็นช่องทางติดต่อแก่ผู้ประกันตนเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากผลการตรวจพบว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย.64 เวลา 16.00 น.) ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 20,000 คน ติดเชื้อกว่า 400 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 81 แห่ง ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะถูกส่งตัวไปยัง Hospitel ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเปิดสายด่วน 1506 กด 6 เป็นช่องทางติดต่อแก่ผู้ประกันตนเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19
ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า การดำเนินการของกระทรวงแรงงาน ในการเปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนในครั้งนี้ สอดคล้องกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันตรวจให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากประชากรทั่วไปให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ทางฝ่ายรัฐจะต้องเป็นผู้ดูแล ผู้ที่ตรวจให้ผลบวกทั้งหมด และจัดสรรผู้ที่มีอาการมากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล. – สำนักข่าวไทย