สธ. 16 เม.ย. – สธ.แจงหลักเกณฑ์รับการรักษาใน รพ.สนาม หรือ Hospitel ต้องเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และขึ้นอยู่กับการตรวจหาเชื้อกับ รพ. หากตรวจกับ รพ.สังกัด กทม. จะได้รับการรักษาใน รพ.สนาม ส่วนสังกัด สธ., รร.แพทย์ และ รพ.เอกชน รักษาใน Hospitel วอน รพ.เอกชน ให้ความร่วมมือประสานเรื่องเตียง ไม่ใช่แค่ตรวจ เพราะยังมีเครือข่าย รพ.เอกชน 3-4 แห่ง ไม่ร่วมมือ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับสถานพยาบาลใน กทม. และโรงเรียนแพทย์ เรื่องการบริหารจัดการเตียง พร้อมกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงาน สายด่วนกรมการแพทย์ หมายเลข 1668 ที่ให้คำปรึกษาและบริหารจัดการเตียง กรณีติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าหลังเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้มาใช้บริการสอบถามจำนวนมาก ยอดรวม 3 วัน สามารถปิดเคสผู้ป่วยเข้าระบบ 305 คน และสามารถส่งต่อประสานผู้ป่วยให้ได้นอนรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามได้ 369 คน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการประสานเตียงได้ร่วมกับ รพ.เอกชน จัดหาเตียง หรือจัดตั้ง Hospitel ให้ผู้ป่วยได้เข้าพักรักษาตัว ซึ่ง รพ.เอกชน ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีเพียง รพ.เอกชนบางแห่ง หรือประมาณ 3-4 เครือข่าย ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือประสานหรือส่งต่อผู้ป่วย หรือช่วยเหลือนอกจากการรับตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจในสถานการณ์ว่า โรคระบาดก็เปรียบได้เหมือนภาวะสงคราม อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันให้ความร่วมมือ เพราะยังมีเตียงว่างใน รพ.เอกชน 700-800 เตียง ซึ่งการบริหารจัดการเตียงขณะนี้ จะให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้รับการรักษา เพราะอาจต้องใช้ห้องความดันลบ ซึ่งหมายเลข 1668 และ 1330 จะช่วยในการรับเคลียร์ประสานเรื่องเตียงให้คนไข้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การคัดครองผู้ป่วยให้ได้นอนรับการรักษาใน รพ.สนาม หรือ Hospitel นั้น อยากให้เข้าใจว่า การระบาดในครั้งนี้แตกต่างจากรอบสมุทรสาคร เพราะคนติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนเมือง มีกำลังทรัพย์ จึงอยากมีทางเลือกในการรับการรักษาพยาบาล แต่เนื่องจากโควิดรอบนี้ติดเชื้อเร็วขึ้นแล้ว พบภาวะปอดอักเสบเยอะขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่อยากให้มีการนอนรักษาตัวใน รพ. มากกว่าอยู่บ้าน โดยคนป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือปอดติดเชื้อ จะได้นอนรักษาตัวใน รพ.
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ก็จะให้รักษาที่ รพ.สนาม และ Hospitel โดยการจำแนกว่า ใครจะได้นอนที่ไหน ในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ขึ้นอยู่กับสังกัดของ รพ.ที่ได้เลือกรับการตรวจ ผู้ที่ได้รับการรักษาใน รพ.สนาม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจใน รพ.สังกัด กทม. ส่วน Hospitel จะเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี และ รพ.เอกชน ยืนยันไม่มีการเลือกปฏิบัติ
น.ส.นภัส เปาโรหิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเข้าใจสถานการณ์การระบาด และยินดีที่จะแบ่งเบาภาระภาครัฐ ในการประสานจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มารับการตรวจ โดยทางโรงพยาบาลมีการจัดตั้ง Hospitel แล้วเช่นกัน และอยากให้ รพ.เอกชน รายอื่นร่วมให้การสนับสนุนด้วย. – สำนักข่าวไทย