กรุงเทพฯ 13 มี.ค.-รมว.แรงงาน แจงซ้ำ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในประกาศกระทรวงแรงงาน ตามมติ ครม.วันที่ 29 ธ.ค.63 เมื่อดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานและขออยู่ในราชอาณาจักร ตามขั้นตอนแล้ว สามารถทำงานที่ไม่ใช่งานห้ามคนต่างด้าวทำได้เช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MoU
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว
สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการผลิต การเกษตร และการบริการในหลายภาคส่วน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของศบค. โดยไม่ทิ้งหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงแรงงานจึงมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง
“ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามประกาศฉบับนี้มีสิทธิทำงาน
กับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่ไม่ได้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่นเดียวกับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน
ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลง หรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) และในกรณีที่ทำงานกรรมกรหรือ
งานขายของหน้าร้านก็ให้เป็นไปตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง และหากคนต่างด้าวออกจากงาน
จะต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างเดิม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีจำนวนรวม 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน โดยแบ่งงานออกเป็น 4 บัญชี บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ27.งานบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 งาน ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ 3 อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม
บัญชี 3 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา
บัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน
“ ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน
หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ .-สำนักข่าวไทย