กรุงเทพฯ 13 ม.ค.- หมอดังโพสต์อธิบายเหตุผลทำไมประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดจึงมีความแตกต่างกันมาก พร้อมแนะนำไม่ควรตามข่าววัคซีนจาก social media เดี๋ยวมึน
นพ.สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์ หรือ “หมอหนึ่ง” ศัลยแพทย์ชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “#ประสิทธิภาพวัคซีนทำไมต่างกันเยอะจัง” ว่า บางครั้งก็ขึ้นกับการ design วิธีการวิจัยด้วยครับ เพราะการทดสอบวัคซีนไม่ใช่การให้วัคซีนกับอาสาสมัครแล้วเอาเขาไปรับเชื้อไวรัสโดยตรงนะครับ
แหม ผิดจริยธรรมตายเลย นักวิจัยติดคุกหัวโตแน่ๆ ฉีดวัคซีนแล้วเอาคนป่วยมาลองไอใส่หน้าอาสาสมัครเนี่ย
แล้วเขาทำยังไง? มันยุ่งยากนิดหน่อยครับผม
เขาก็จะให้วัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับวัคซีนของจริง อีกกลุ่มได้รับยาหลอก (placebo) แล้วให้ทั้ง 2 กลุ่ม กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในบริเวณที่มีการระบาด
จากนั้นเราก็รอเวลา ..ติ๊ก ต่อกๆ …ติดตามว่าแต่ละกลุ่มจะติดเชื้อต่างกันไหมน้า (โหดมะ ) แล้วก็จะเปรียบเทียบอัตราส่วนของการติดเชื้อของทั้ง 2กลุ่ม ได้ค่าที่เรียกว่า risk factor ค่าที่ว่านี่ก็เอามาคำนวน ประสิทธิภาพ (efficacy)อีกที
เอาหล่ะ หากอ่านไปชักมึน สรุปว่าหากเจอว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนแทบไม่ติดเชื้อเลย กลุ่มได้ยาหลอกติดเชื้อเพียบ ก็จะคำนวนประสิทธิภาพได้สูง
ปัญหาคือการทดลองแบบนี้ หากไปทำในประเทศที่มีคนติดเชื้อมาแล้วเยอะๆ อาสามัครก็มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติอยู่แล้วบ้าง แม้จะได้ยาหลอกก็ติดเชื้อน้อย เราอาจจะเห็นสองกลุ่มติดเชื้อไม่ค่อยต่างกัน
เราก็จะคำนวณประสิทธิภาพวัคซีนในกรณีนี้ได้น้อยลงเช่นกัน ไม่เกี่ยวกับการที่วัคซีนห่วยเสมอไป
นอกจากนี้นักวิจัย อาจจะลองปรับโดส ปรับสูตร ฉีดเพียง 1 เข็ม หรือจะลองฉีด 2 เข็ม ห่างกันเท่านั้น เท่านี้ เพื่อดูว่าแบบไหนได้ภูมิมากสุด โดยไม่ต้องฉีดมากเกินไปก็ได้ (แบบเดียวกับวัคซีนอังกฤษ ที่ลองฉีดใน UK สูตรหนึ่ง ฉีดใน บราซิลสูตรหนึ่ง ได้ผลต่างกัน)
ทีนี้ไม่ต้องแตกตื่น ทำไม ทำไม ทำไม วัคซีน ก ห่วยกว่า วัคซีน ข ฯลฯ
เรามารอดู final report ที่จะรวมข้อมูลทั้งหมดอีกทีดีกว่าครับและไม่ควรตามข่าววัคซีนจาก social media นะ..ส่วนใหญ่จะมั่ว เดี๋ยวจะมึนเอา