จ.สมุทรสงคราม 29 พ.ย..- ตำรวจร่วมลดความเสี่ยงคุกคามทางเพศในคนพิการ จับมือ สสส.ภาคีเครือข่าย รณรงค์เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ชู“อัมพวาโมเดล” เดินหน้าทำงานเชิงป้องกัน
ในการเสวนาหัวข้อ “รวมพลังปกป้องคนพิการจากความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังสังคม ปกป้องคนพิการจากความรุนแรง และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” จัดโดย คณะทำงานอัมพวาโมเดล สถานีตำรวจภูธรอัมพวา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุปผากาญจน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอัมพวา กล่าวว่า ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาคนพิการจากความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มีอัมพวาโมเดล ซึ่งเป็นการทำงานในชิงรุก เป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กพิเศษ 2. กลุ่มเด็กทั่วไปที่มีโอกาสจะถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ 3. กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม และ 4.กลุ่มที่มีความรุนแรงในครอบครัว เป้าหมายในการทำงานคือ ต้องยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดย
จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมทำความเข้าใจในบทบาทของหน่วยงานตนเอง เช่น เคสเด็กพิเศษที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทีมงานจะเข้าไปดูว่า บ้านมีความมั่นคง ปลอดภัยหรือไม่ คนในบ้านต้องการอะไร ซึ่งทุกหน่วยงานจะเข้าไปช่วยเหลือในทุกมิติ เช่นสาธารณสุขจะดูเรื่องสุขภาพ พม.จะดูเรื่องสิทธิและสวัสดิการ ส่วนตำรวจจะเน้นหนักไปที่การป้องกันทำงานเชิงรุกมากกว่า ที่จะทำหลังเกิดเหตุไปแล้ว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ ต้องการปลุกพลังสังคมให้เห็นความสำคัญ และมีส่วนร่วมป้องกันแก้ปัญหาความรุนแรง การถูกคุกคามทางเพศ และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดยเฉพาะปัจจัยกระตุ้นจากยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรง เป็นต้นเหตุของทุกปัญหา ยิ่งในกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการยิ่งน่าเป็นห่วง
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯได้ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นคนพิการหลายกรณี ส่วนใหญ่ พิการทางสติปัญญา บกพร่องทางด้านร่างกาย รวมถึงบางรายพิการซ้ำซ้อน โดยผู้กระทำเป็นญาติ คนใกล้ตัวหรือคนข้างบ้าน เช่น พ่อเลี้ยง พี่ชาย ที่ผ่านมา ยังพบประเด็นช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมหลายประการ ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป และจากการที่มูลนิธิฯได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานอัมพวาโมเดล ได้ร่วมกันเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กพิการช่วงสามเดือนที่ผ่านมา พบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับเด็กและครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด หน่วยงานต่างๆได้เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันตามอำนาจหน้าที่ มีการติดตามต่อเนื่อง ถือเป็นการทำงานเชิงป้องกันที่น่าสนใจ ซึ่งต้องขอบคุณ ผู้กำกับ สภ.อัมพวา ที่เป็นแกนกลางชักชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันสะท้อนปัญหาและวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็กและครอบครัว ไม่ใช่แค่รอไปจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ
นางเอ (นามสมมติ) ญาติเหยื่อพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กล่าวว่า หลานสาวอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นเด็กพิการถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ หลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความและขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จนสามารถจับผู้ก่อเหตุมารับโทษได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวใคร ไม่ว่าคนปกติ คนพิการ เราก็ไม่มีสิทธิไปทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศเขา และตนขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง รณรงค์สร้างความตระหนักให้สังคมหยุดความรุนแรง และการได้มาเห็นการทำงานเชิงรุก ป้องกันก่อนเกิดปัญหาแบบที่อัมพวา ทำให้รู้สึกมีความหวังและอยากให้เรื่องดีๆแบบนี้ไปเกิดในพื้นที่ชุมชนของตัวเองบ้าง .-สำนักข่าวไทย