กทม.16 ต.ค.-พร้อมประกาศแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5พื้นที่ กทม.สัปดาห์หน้า เริ่มลงมือปฏิบัติ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5)ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหาร กทม. ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กรมธุรกิจพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยในวันนี้ที่ประชุมได้หารือแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (pm2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการจัดทำร่างแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง pm2.5 ในกรุงเทพมหานคร ปี 2564 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแนวทางความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ
ผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการประชุมวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือแนวทางการป้องกันปัญหาฝุ่นซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค. เนื่องจากสภาพอากาศปิด โดยปัจจัยการเกิดมีหลายสาเหตุ อาทิ การใช้รถยนต์ การเผาไหม้หรือการก่อสร้าง ทุกหน่วยงานจึงจัดเตรียมข้อตกลงในการดำเนินการร่วมกัน อาทิ กทม.และกองบังคับการตำรวจจราจร จะออกคำสั่งห้ามรถยนต์ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงกลางวัน 06.00– 21.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อลดมลพิษจากควันรถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ กทม.ได้จัดตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองครบทั้ง 50 เขต อยู่ระหว่างการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเพิ่มเติมอีก 20 แห่ง เพื่อให้ประชาชนที่ประสงค์ไปใช้พื้นที่ออกกำลังกายได้รับทราบข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลตนเอง สำหรับมาตรการที่ กทม.ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา และมีประโยชน์กับประชาชน จะให้ดำเนินการมาตรการนั้นๆ ต่อไป
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเกิดฝุ่นละออง pm2.5 เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือการเผาไหม้ทั้งจากรถยนต์ การเผาในที่โล่ง การเผาในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งปัจจัยภูมิอากาศยังมีส่วนสำคัญ ในช่วงที่อากาศปิด อากาศไม่สามารถยกตัวได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีปัญหาฝุ่นละอองสูงในทุกปี ทุกหน่วยงานจึงร่วมกันกำหนดแผนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยเรื่องของสถานศึกษาก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกหน่วยงานเห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหว จึงเห็นควรให้งดจัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. หากมีสถานการณ์วิกฤติปริมาณฝุ่นสูงเกิน 3 วันจะพิจารณาให้ปิดโรงเรียน ในส่วนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะประสานไปยังหน่วยงานที่ดูแล ควบคุมไม่ให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย และในช่วงวิกฤติที่มีปริมาณฝุ่นสูงจะห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างนอกอาคาร แต่การก่อสร้างในอาคารยังคงสามารถทำได้
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการควบคุมโรงงานที่อาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น โรงงานที่มีหม้อไอน้ำ หรือ Boiler ซึ่งมักเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดฝุ่น รวมถึงโรงพยาบาลและโรงแรมที่มี Boiler ด้วย ทั้งนี้รายละเอียดของแผนทั้งหมดจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า .-สำนักข่าวไทย