สำนักข่าวไทย 6 ต.ค..- อธิบดีกรมควบคุมโรคแนะ ดูลักษณะหางของแมงดาทะเล ก่อนบริโภค
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีผู้กินแมงดาทะเล และเสียชีวิตว่า
แมงดาทะเลมี 2ประเภทคือ แมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ หรือชาวบ้านเรียกว่า เห-รา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแมงดา มีพิษ ส่วนหางจะมีลักษณะกลมๆเรียบๆ
ส่วนแมงดาจาน เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ ตัวจะใหญ่กว่าแมงดาถ้วยมีลักษณะเฉพาะ คือส่วนหางจะเป็น สามเหลี่ยม
นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า แต่แมงดาถ้วยก็ไม่ได้มีพิษทุกตัว กล่าวคือมี แมงดาถ้วยตัวที่มีพิษเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งเรายังไม่สามารถแยกได้ว่า ตัวใดจะมีพิษ จึงควรหลีกเลี่ยงแมงดาถ้วยไว้ก่อน
สำหรับพิษของแมงดาทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ
เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และ เซซิทอกซิน (sasitoxin)ที่อยู่ในเนื้อและในไข่
ซึ่งการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้า คลื่นไส้อาเจียน ปลายมือปลายเท้าอ่อนแรง ในรายที่อาการรุนแรงอาจ มีอาการน้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจ อ่อนแรง และหายใจไม่ได้ จนเสียชีวิต
จึงขอเตือนประชาชนไม่ควรรับประทานแมงดาถ้วย หรือเห-รา เพราะพิษของมันไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน
หลักการเลือกกินแมงดาทะเล คือให้ดูที่หาง ถ้าหางเป็นสามเหลี่ยมคือแมงดาจานไม่มีพิษ แต่ถ้าเป็นแมงดาถ้วย หางจะกลมและมีพิษ
ส่วนหากกินที่ร้านอาหาร ควรเลือกร้าน ที่รู้จักกัน แม้ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก แมงดาทะเลยังมีไม่มาก แต่ก็ไม่ควรประมาท.-สำนักข่าวไทย