กทม. 18 ส.ค.-เอ็นจีโอด้านเด็กเรียกร้องกระทรวงศึกษาฯไฟเขียวนักเรียนนักศึกษา แสดงออกทางการเมือง ให้ครูอำนวยความสะดวก รวบรวมเนื้อหาส่งต่อภาครัฐอย่างเป็นระบบ
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของนักเรียนหลายสถาบันพร้อมใจกันทำกิจกรรมชูสามนิ้วหลังเคารพธงชาติ ตลอดจนการผูกริบบิ้นสีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนการเมือง ว่า ปรากฏการณ์ชู 3นิ้วของนักเรียน ในโรงเรียนช่วงเข้าแถวตอนเช้ากำลังเล่าอะไรบางอย่างกับสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นระบบอำนาจนิยมที่ถูกผลิตซ้ำอย่างไม่ขาดสาย อาทิ วัฒนธรรมในโรงเรียน ที่เปิดเทอมต้องกร้อนผม ตัดเลาะกระโปรง เป็นต้น อำนาจนิยมในบริบทดังกล่าวขัดแย้งกับสังคมจริงนอกห้องเรียนที่มนุษย์ต้องคิดเป็น ตัดสินใจเป็น มีทางเลือกเป็นของตนเอง ส่วนการกระทำในบริบทของครู เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่ทำมาอย่างยาวนาน ระบบอำนาจนิยมที่หยั่งรากลึกในโรงเรียนภายใต้โลกใบใหม่ของนักเรียนที่สามารถเชื่อมข้อมูล ความทุกข์ แรงกดดันได้อย่างเสรี คือการเร่งวิกฤติศรัทธาต่อผู้ใช้อำนาจในอัตราที่เร็วมาก
นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า กรณีนี้พบว่ามีครู อาจารย์ ในโรงเรียนบางแห่งได้กระทำการที่ไม่เหมาะสมกับเด็กๆนักเรียนที่แสดงออก ทั้งวาจาและการกระทำ ตามที่ปรากฏข่าว ในฐานะคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก จึงขอแสดงจุดยืน ดังนี้
1.ขอสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับรองไว้ และเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กอย่างยิ่ง
2.กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายเปิดพื้นที่แสดงออกของนักเรียน นักศึกษา ให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยปราศจากการแทรกแซง หรือคุกคามของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือแม้กระทั่งครู อาจารย์ และควรกำหนดให้ครู อาจารย์ อำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม เพื่อรวบรวมเอาความคิดเห็นต่างๆของเด็กๆส่งต่อให้กับรัฐบาล เพื่อให้ได้รับรู้ความเป็นไปและข้อเท็จจริงที่เขาต้องการ และคอยชี้แนะให้อยู่ในกรอบที่ไม่ละเมิดกฎหมาย
3.กระทรวงศึกษาและสถานศึกษาควรระลึกอยู่เสมอว่า ความตื่นตัวในทางการเมืองและสนใจปัญหาบ้านเมืองของนักเรียนนักศึกษาในยุคนี้ คือสิ่งที่มีค่า ควรสนับสนุนและรักษาไว้อย่างยิ่ง ควรตั้งคำถามกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ว่า เหตุใดการเรียนการสอนทุกวันนี้จึงไม่สามารถกระตุ้นการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ให้กับลูกศิษย์ได้เลย ครั้นเมื่อเด็กๆลุกขึ้นมาตื่นรู้ด้วยตัวเองแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่เด็กๆจะถูกปิดกั้นและริดรอนสิทธิเสรีภาพของพวกเขา ควรยอมรับความจริงว่าความล้มเหลวในระบบมีอยู่จริงและต้องเร่งแก้ไข
4.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ทหารตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆต้องยุติการแทรกแซงกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาในทุกรูปแบบทันที หากต้องการรับรู้สถานการณ์และข้อมูลให้สอบถามจากครู อาจารย์ในโรงเรียนเท่านั้น และไม่ควรมีใครติดตาม คุกคาม นักเรียนนักศึกษาและครอบครัว
และ 5.ขอเรียกร้องต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้พยายามทำความเข้าใจต่อมุมมอง ความคิดของเด็ก ๆ มองให้เห็นคุณค่าและความงดงามในการตั้งคำถาม การลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ คอยระมัดระวังเรื่อง Hate speech สร้างความเกลียดชัง และให้การเคารพในความคิดต่าง
ด้านนายธนเดช ใจสบาย ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ ได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ เห็นว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนในรั้วสถาบันการศึกษานั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียนที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ฯ” ประกอบกับ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีหลักการสำคัญคือเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก 4 ด้าน โดยเฉพาะด้านที่ 4 “สิทธิที่จะมีส่วนร่วม” ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ตลอดจนเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ส่งผลกระทบหรือมีส่วนโดยตรงกับตัวเด็กและเยาวชน
เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ จึงขอเรียกร้องไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้สถาบันการศึกษาทุกระดับ เปิดพื้นที่ในรั้วสถาบันการศึกษาให้แก่นักเรียนเพื่อแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี และไม่ปิดกั้นการทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ตลอดจนไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อร่างกายและจิตใจของนักเรียน .-สำนักข่าวไทย