สำนักข่าวไทย 17 ส.ค.–จิตแพทย์ชี้ความเห็นต่างของเยาวชน ไม่ใช่สิ่งเลว ร้าย หรือถูกผิด ความเห็นต่างคือความสวยงามของประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับซึ่งกันและกันให้ได้ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องปลอดการเมือง แต่ต้องมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นนอกเวลาเรียนพื้นฐาน หรือเคารพธงชาติ เพื่อเคารพบรรทัดฐานของสังคม หากอธิบายให้ดีเชื่อเด็กเข้าใจ
นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเยาวชนชู 3 นิ้วขณะเคารพธงชาติในโรงเรียน และครูห้ามปราม ว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ตามสิทธิ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องถูกหรือผิด หรือพยายามกดดันเด็กไม่ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องปลอดการเมือง แต่อยากให้มองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก ที่เยาวชน ผู้มีความรับผิดชอบ ต่อสังคม รักประเทศชาติได้มาแสดงออก ซึ่งความจริงหากโรงเรียนมีพื้นที่ หรือมีกิจกรรมนอกเวลาเรียนให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดเห็น ถกปัญหา ชี้แจงในสิ่งที่เรียกร้องว่ามีประโยชน์ หรือดีอย่างไรให้เกิดการรับฟัง ก็ไม่จำเป็นต้องมาแสดงในเวลาเคารพธงชาติ เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ และควรถือเป็นตัวอย่างของการแสดงความคิดเห็นที่เสรี และรับฟังตามระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างทุกความคิดเห็น ไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เชื่อว่าเมื่อมีการอธิบายถึงเหตุและผล การเคารพบรรทัดฐานทางสังคม เด็กเหล่านี้ซึ่งมีภาวะเหมือนผู้ใหญ่จะมีความเข้าใจ
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเปิดกว้าง ยอมรับความ เห็นต่าง ไม่แยกคนดีและเลว นี่คือโอกาส ที่จะเป็นการทดสอบความเป็นประชาธิปไตย และผู้ใหญ่ไม่ควรมองว่าไม่รักชาติ ถือเป็นความผิด เพราะเด็กเหล่านี้เป็นแค่เยาวชน ไม่มีอำนาจในมือ ตรงกันข้ามคนมีอำนาจต้องรับฟังความตัวเล็ก และคนมีอำนาจต้องระวังการใช้อำนาจของตนเอง ควบคุมตัวเอง ไม่ใช้วาทกรรมเกลียดชัง เช่น ชังชาติ ไม่รักชาติ หากคนมีอำนาจเป็นฝ่ายยอมเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้นแต่ต้องยอมรับ ปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ไขในวันเดียว ขณะเดียวกันในสังคม ควรถือเป็นโอกาสของการพัฒนา ที่ไหน ไม่มีความเห็นต่างที่นั่นยอมไม่มีทางเจริญหรือพัฒนาได้
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การใช้วาทกรรมทั้งชังชาติหรือไดโนเสาร์ไม่ควรเกิดขึ้น ทุกความเห็นต่างต้องสามารถรับฟังกัน จึงเป็นสังคมประชาธิปไตย บทบาทของพ่อแม่หรือสังคมในครอบครัว ไม่ควรจุดประเด็นว่า ถ้ามีความคิดแบบนี้จะไม่มีงานทำในสังคม จะไม่มีโอกาสก้าวหน้าจะกลายเป็นการใช้ความเกลียดชัง ตรงกันข้าม พ่อแม่ต้องประคับประคอง และพูดคุยแลกเปลี่ยนความสงสัยหรือความคิดที่เกิดขึ้น
การประคับประคองสังคมที่ดีที่สุด คือ 1. ต้องไม่มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นการจัดตั้ง 2.ข้อเสนอของเยาวชนมีผลต่อสังคมอย่างไร 3.ต้องให้เหตุผลและทางออก และ4. ต้องคิดเสมอ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงหมด ต้องอยู่ระหว่าง 2 ขั้วให้ได้.-สำนักข่าวไทย