สำนักข่าวไทย 6 ส.ค.- MEA ลงพื้นที่ชุมชนคอยรุตตั๊กวา ติดตามโครงการโซลาร์เซลล์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาด ผลักดันช่างไฟฟ้าในชุมชน สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการในชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (คอยรุตตั๊กวา แปลว่า คุณงามความดีที่มอบแด่พระเจ้า) ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตําบลโคกแฝด อําเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีจํานวนครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 189 ครัวเรือน ในพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เป็นชุมชนมุสลิมแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ที่น้อมนำแนวปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการชุมชน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมภายในชุมชน ได้แก่ การบำรุงรักษาและปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชน สนับสนุนการเสริมสร้างอาชีพการเพาะเลี้ยงปลา การสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ชุมชน ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA พบว่า คณะกรรมการชุมชนและสมาชิก ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในกิจกรรมต่างๆ ที่ MEA ส่งเสริมสนับสนุนไว้ให้ เช่น การเพาะเลี้ยงปลาดุก จำนวน 8 บ่อ เนื่องจากชุมชนอยู่ติดกับคลองลำไทร สภาพแวดล้อมยังเป็นธรรมชาติ น้ำในคลองค่อนข้างสะอาด สามารถใช้ในเพาะเลี้ยงปลาดุกเพื่อการบริโภคภายในชุมชน ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถมีผลผลิตเฉลี่ยบ่อละ 43 กิโลกรัมต่อรอบการจับ สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ 11,920 บาทต่อปี และคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 6,960 บาทต่อปีนอกจากนี้ MEA ยังได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เรื่องพลังงานทดแทนในและการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) แบบ On Grid ขนาด 5.4 kWp สำหรับศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นศูนย์กลางกิจกรรมอีกแห่งหนึ่งของชุมชน และเปิดให้หน่วยงาน ชุมชนภายนอก และเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 (เม.ย. – พ.ค.) ในทุกปีการศึกษา เข้ามาศึกษาดูงานในรูปแบบของการใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน เรียนรู้ถึงแนวคิดวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านฐานการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนของตนเองได้
นอกจากนี้ MEA ยังได้ติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 จุด ในบริเวณมัสยิด เพื่อเพิ่มแสงสว่างและอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวมุสลิมในชุมชน รวมถึงใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และทดสอบการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจากการจัดเก็บข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้เฉลี่ย 40% ต่อปี คิดเป็นจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ประหยัดได้เริ่มตั้งแต่ติดตั้ง ประมาณ 4,600 หน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 16,100 บาท เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนลงได้กว่า 2,300 กิโลกรัม
ผลสำเร็จการการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้นจริง และจากความสำเร็จนี้ MEA จึงได้ต่อยอดกิจกรรม ด้วยการสนับสนุนให้คนในชุมชน ที่มีความรู้ ความสนใจเรื่องไฟฟ้า เข้ารับการอบรมและทดสอบ กิจกรรมช่างไฟฟ้ามืออาชีพของ MEA เพื่อพัฒนาอาชีพช่างไฟฟ้า ให้ได้มาตรฐาน และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด สามารถนำไปประกอบอาชีพ หรือนำความรู้กลับมาใช้ในการดูแลระบบไฟฟ้าภายในชุมชนได้ต่อไป
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living