กทม.5ส.ค.-ม.รามฯ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จัดประชุมนานาชาติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฐานเทคโนโลยี ครั้งที่ 46 ระหว่าง 5-7 ต.ค.นี้ ปรับรูปแบบประชุมจากระดับชาติสู่นานาชาติ เชิญ “ศ.ดร.จอห์น วอร์เนอร์” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 63 จากสหรัฐฯ ร่วมปาฐกถาพิเศษ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการจัดการประชุมนานาชาติ THE 46th INTERNATIONAL CONGRESS ON SCIENCE, TECHNOLOGY AND TECHNOLOGY-BASED INNOVATION หรือ STT46 หัวข้อ “POWER OF SCIENCE TO ACHIEVE SDGs” ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม2563 ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และอาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม และจะทรงประทับรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก ศ.ดร.จอห์น วอร์เนอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกาและนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2563
ศ.ดร.จอห์น วอร์เนอร์ เป็นทั้งนักเคมี นักการศึกษาและผู้ประกอบการ เป็นผู้ริเริ่มเรื่องหลักการเคมีกรีน (Green Chemistry Principles) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันทั่วโลกเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนได้รับรางวัลมากมาย ที่สำคัญมากคือรางวัล Perkin Medal 2014 ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นเกียรติสูงสุดในวงการเคมีอุตสาหกรรม ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในงาน STT46 นี้ ศ.ดร.จอห์น วอร์เนอร์ จะบรรยายเรื่อง “วิทยาศาสตร์ทุกสาขาตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” All Fields of Science Addressing the UN Sustainable Development Goals)
การประชุมนี้เป็นการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จัดติดต่อมาแล้ว 45 ครั้ง ในรูปแบบการประชุมระดับชาติ รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า วทท (การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) แต่ปีนี้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมนานาชาติครั้งแรกเพื่อขยายโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยได้รับฟังผลงาน วิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้กว้างขวางมากขึ้น กับผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ
นอกจากจัดให้มีการนำเสนอผลงาน ทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ยังกำหนดให้เป็นเวทีของกลุ่มนักวิจัยทั่วโลกได้มาพบปะและปรึกษาหารืองานวิจัยที่มีความสนใจเฉพาะเรื่องร่วมกันด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก การลดพลาสติกในทะเล การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนบนฐานวิทยาศาสตร์และพลังงานทดแทน เป็นต้น และยังให้โอกาสนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศนำเสนอ โครงงานวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจในเวทีนานาชาติครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ การจัดประชุมนานาชาติSTT46 เป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยได้รับรู้ความก้าวหน้างานวิจัยที่สำคัญ และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มนักวิจัยระดับโลกทำให้สามารถทำงานเท่าเทียมกับนานาชาติได้รวดเร็วขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย