กรุงเทพฯ 4 พ.ย. – กทม.เตรียมออกข้อบัญญัติ ฝังไมโครชิปหมา-แมว แก้ปัญหาสัตว์เลี้ยง-สัตว์จรจัด ที่อาจเป็นอันตรายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และเพื่อให้ กทม.เป็นเมืองที่ปลอดภัย
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ โดย นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เหตุผลของการเตรียมออกข้อบังคับนี้ เพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ และเป็นการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญและอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ กทม. สมควรปรับปรุงข้อบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
โดยการควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว ให้ กทม. เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมวเกินจำนวนที่กำหนด เช่น พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกินเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว ที่ดินไม่เกิน 20 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว เนื้อที่ดิน 20-50 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว เนื้อที่ดิน 50-100 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว เนื้อที่ดิน 100 ตร.ว.ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว รวมทั้งใบรับรองการจดทะเบียนต้องดำเนินการ เจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยงไปทำเครื่องหมายระบุตัวอย่างถาวรจากสัตวแพทย์ โดยการฝังไมโครชิปตามมาตรฐานที่ กทม.กำหนด พร้อมนำใบรับรองไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย หรือสำนักงานเขต
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ประกอบด้วย พิตบูลเทอร์เรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟอร์ดเชอร์บูลเทอร์เรีย รอตไวเลอร์ ฟิลาบราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตร ตลอดเวลา
ข้อบัญญัตินี้จะทำให้ทราบถึงข้อมูลว่า ใครเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น และสามารถวางแผนและดำเนินการทำหมันสัตว์จรในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดจำนวนสัตว์จรลงด้วย เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์ดุร้ายที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใน กทม.ได้ เพื่อทำให้ กทม.มีความปลอดภัยกับประชาชน
หลังจากนี้ ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้จะถูกนำเสนอให้กับผู้ว่าฯ กทม. เพื่อลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้วันถัดไปหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 360 วัน. – สำนักข่าวไทย