ศูนย์ราชการฯ 4 ต.ค.- สคบ.เผยผลสอบทองร้านแม่ตั๊ก พบเป็นทองจริง แต่อาจผิดเข้าข่ายความผิดเรื่องฉลาก ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลกับผู้บริโภคให้ครบถ้วน
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.คุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แถลงผลการตรวจสอบทองที่เก็บตัวอย่างจากร้านทอง ย่านถนนหทัยราษฎร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. ของ น.ส.กรกนก หรือ แม่ตั๊ก และนายกานต์พล หรือ ป๋าเบียร์ ในวันที่ 24 กันยายน 2567 สคบ.มีหน้าที่เป็นพยานในการนำพยานหลักฐานต่างๆ ให้ตำรวจ ซึ่ง สคบ.ได้ส่งตัวอย่างทองทั้งหมด 6 ตัวอย่าง ไปตรวจสอบที่สถาบันอัญมณี ซึ่งได้ตรวจทั้ง 2 แบบ คือ แบบเอกซเรย์และแบบเผา โดยผลการตรวจสอบพบว่า
- ทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ (ห่วงใหญ่-ห่วงเล็ก) น้ำหนัก 1.89 กรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 97.55% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 92.78%
- ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ น้ำหนัก 6 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 96.00% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 94.44%
- ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ (ปี่เซียะ) จำนวน 8 ตัว น้ำหนัก 4.96 กรัม ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97%
- ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ (ตราไข่) น้ำหนัก 0.77 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97%
- ทองรูปพรรณประเภท ลูกปัด จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 1.19 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 71.15% ผลจากการหลอมอยู่ที่ 61.45%
- ทองรูปพรรณประเภทจี้ (ปี่เซียะ) น้ำหนัก 11.13 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99% จากการหลอมอยู่ที่ 99.95%
โดยจากผลดังกล่าวจะนำมาประกอบเป็นข้อมูล เพื่อประกอบกับความผิดกับหน่วยงานส่วนอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ หากดูพฤติการณ์การพบว่าเข้าข่ายความผิดเรื่องฉลาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค คือไม่ระบุฉลากสินค้าที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสได้ชี้แจง เพื่อความเป็นธรรม โดยประเด็นการโฆษณาการขายสินค้า การใช้ถ้อยคำในการไลฟ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ จะมีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาตรวจสอบต่อไป ส่วนเรื่องของแถม ที่มีการอ้างว่าทอง 99.99% สคบ.อยู่ระหว่างขอตัวอย่างจากผู้บริโภค เพื่อเก็บตัวอย่างมาเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ และจะส่งให้สถาบันวิจัยอัญมณีแห่งชาติตรวจสอบอีกครั้ง
สคบ.ย้ำว่าจะดำเนินการตรวจสอบจากผลตรวจทองที่ได้ เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย สคบ.คุ้มครองหลัก ๆ 3 ประเด็น คือ กรณีฉลากไม่ตรง การตรวจสอบว่ามีการขอทำธุรกิจตลาดแบบตรงที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ซึ่งรวมถึงช่องทางการขายทางออนไลน์ต่างๆ และประเด็นว่าการไลฟ์ขายสินค้ามีการใช้ถ้อยคำโฆษณาเกินจริงหรือไม่ โดยความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เรื่องฉลากไม่ตรงนั้นมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ผอ.คุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ.ยังระบุ ล่าสุดมียอดผู้ร้องเรียน 40 คน เชื่อว่ายอดจะเพิ่มขึ้นอีก โดย สคบ.จะเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียน และประสานกับผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการเยียวยา และย้ำว่ากรณีนี้ ส่วนของการเอาผิดแพ่งและอาญา คนละส่วน หากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย แม้ได้รับการเยียวยาแล้ว ก็สามารถมาแจ้งดำเนินการทางอาญาได้
สคบ.และจะขยายผลตรวจสอบไปยังร้านค้าที่มีการไลฟ์ในลักษณะดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีการไลฟ์ขายของจำนวนมาก สคบ.จะมีทีมในการมอนิเตอร์ตรวจสอบ ผู้ที่ไลฟ์หากเข้าข่าย สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคก็จะมีการดำเนินการในส่วนนี้เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำกับอีก.-417- สำนักข่าวไทย