หนองคาย 20 ก.ย.-เลขาธิการ สทนช. เผยประสาน MRC ใกล้ชิด ติดตามผลคาดการณ์ระดับน้ำแม่น้ำโขง จะสูงขึ้นอีกครั้งวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ประกอบกับฝนตกเพิ่มจากพายุซูลิก ส่งผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ชี และมูล ย้ำ จ.นครพนมและอุบลราชธานี แจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง กำชับหน่วยงานต่างๆ เร่งระบายน้ำ พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมาก 147 แห่งทั่วประเทศ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้รับข้อมูลคาดการณ์จากสำนักงานเลขาธิการกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ว่า ในวันที่ 23-24 กันยายน 2567 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น ประกอบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจะมีฝนมากขึ้นจากอิทธิพลของพายุ “ซูลิก” ที่อ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อนเป็นดีเปรสชันและจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ จะส่งผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี และมูล โดยเฉพาะที่จ. นครพนมและอุบลราชธานีจึงได้แจ้งให้ทั้ง 2 จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการล่วงหน้าเชิงป้องกันได้แก่ การแจ้งเตือนประชาชนเตรียมยกของขึ้นสูง เตรียมความพร้อมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมถึงวางแผนการระบายน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะนี้ระดับน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มลดลง แม้ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อาจไม่สูงกว่าตลิ่งมากนัก ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังคือ ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและระดับน้ำในคลองห้วยหลวงที่ล้นตลิ่งอยู่ในปัจจุบัน จากการคาดการณ์ 7 วันล่วงหน้า คาดว่า จะส่งผลกระทบพื้นที่ริมคลองครอบคลุมพื้นที่ 53.30 ตารางกิโลเมตร
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ได้ประสานให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมาก ปัจจุบันแหล่งน้ำทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 54,299 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ของความจุ โดยแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมากทั่วประเทศมี 147 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ อ่างเก็บน้ำแม่จาง จังหวัดลำปางซึ่งมีน้ำ 96% อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานีซึ่งมีน้ำ 80% และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรีซึ่งมีน้ำ 75%
ทั้งนี้ฝนที่จะตกเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำทั้งในลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ และลุ่มน้ำยมจะมีแนวโน้มาสูงขึ้น โดยเน้นย้ำให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัยซึ่งมีความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งที่อ. เมืองสุโขทัย
ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก พบว่า เขื่อนภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เกิน 60% ของความจุและยังรองรับน้ำได้อีกมาก ยกเว้นเขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้ปริมาณน้ำ 84% จึงต้องมีการปรับแผนการระบายโดยต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายด้วย
ปัจจุบันมีอุทกภัยใน 7 จังหวัดได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สายและเมืองเชียงราย) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองพิษณุโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองนครสวรรค์) จ.หนองคาย (สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ รัตนวาปี และโพนพิสัย) จ.บึงกาฬ (โซ่พิสัย บึงโขงหลง เซกา พรเจริญ ปากคาด เมืองฯ บุ่งคล้า และศรีวิไล) จ.พระนครศรีอยุธยา (บางบาล บางปะหัน ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา และบางไทร) จ.สตูล (ควนโดน เมืองฯ ท่าแพ และมะนัง).-512.-สำนักข่าวไทย