กทม.20ส.ค.-กรมการศาสนา ครบรอบ 83 ปี จัดงานวันศาสนูปถัมภ์ เดินหน้าอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา สร้างคนดีมีคุณธรรม คว้ารางวัลองค์กรคุณธรรม อันดับ 3 ของประเทศ
กรมการศาสนาจัดงาน “วันศาสนูปถัมภ์” ครบรอบ 83 ปี แห่งการสถาปนากรมการศาสนา โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนองค์การทางศาสนา อดีตผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเข้าร่วมงาน ที่ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 กระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึง นายสุวิทย์ ทรัพย์มหาอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักวิทยุ บมจ. อสมท มาร่วมงานพร้อมร่วมสมทบทุนเข้ากองทุนสวัสดิการกรมการศาสนา เพื่อนำไปสมทบทุนให้แก่องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิต่างๆและกิจกรรมเพื่อสังคม
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า “กรมการศาสนา” เป็นหน่วยงานที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เดิมมีชื่อว่า กรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมธรรมการสังการี และเปลี่ยนมาใช้ชื่อกรมการศาสนา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2484 เป็นต้นมา ปีนี้ ครบรอบ 83 ปี และ ครบรอบ 61 ปีแห่งวันศาสนูปถัมภ์ ที่มีการจัดงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 เพื่ออุทิศแด่บรรพชนผู้ที่อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาที่ส่วน ใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งบรรพชนเหล่านั้นเป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนผาสุก ปัจจุบันกรมการศาสนา เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐด้านศาสนา โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมและให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้คนไทยนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นคนดีมีคุณธรรม โดยในปีนี้ กรมการศาสนายังได้รับรางวัลผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ระดับผ่านดีเยี่ยม เป็นอันดับที่ 3 จาก 160 หน่วยงาน สะท้อนถึงการเป็นองค์กรคุณธรรมและยึดหลักการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลด้วย
สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจของกรมการศาสนา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 84 กรมการศาสนา จะดำเนินการส่งเสริมงานด้านศาสนาในทุกมิติ ผ่านการดำเนินการขับเคลื่อน นโยบาย 7 ส. ดังนี้ 1) สู่ความเป็นเลิศด้านศาสนพิธี รัฐพิธี 2) ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม 3) เสริมสร้างศาสนิกสัมพันธ์ 4) สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน 5) สุขใจได้บุญ 6) สมาธิ สร้างปัญญา และ 7) สะดวกใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดงานเดิม ขยายงานใหม่ ทั้งในด้านองค์ความรู้ การบริหารจัดการ การจัดทำแผนปฏิบัติการ ที่สอดคล้องความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ ด้วยการนำทุนและหลักธรรมทางด้านศาสนามาพัฒนาคนให้มีคนดี คนเก่ง และคนมีคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์การทางศาสนา รวมถึง การสร้างความเข้มแข็งของ Soft Power ในมิติศาสนาเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เยาวชนและประชาชนคนรุ่นใหม่ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต และใช้ทุนทางศาสนาสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ส่งผลให้สังคมและประเทศชาติมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย