กทม. 20 มิ.ย. – นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แถลงถึงไฮไลต์สำคัญของงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 งานประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำเอาวัฒนธรรมและแรงบันดาลใจจาก 11 สาขาอุตสาหกรรม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ผ่านทักษะทางวัฒนธรรมและสังคมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย เข้าสู่เวทีระดับสากล ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า งานครั้งนี้ถือเป็นการประกาศตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ หลังจากประชุมและพูดคุยกันมาตลอดช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ที่หลายคนอาจยังไม่เห็นอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่าง โดยในงานนี้จะไม่ไช่งานนิทรรศการเน้นการอ่านผ่านตัวอักษร แต่งานนี้คาดว่าจะมีคนมาร่วมไม่ต่ำกว่าแสนคน จะเป็นงานที่ทุกคนจะได้รับประสบการณ์ ได้แรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จ ที่จะมาร่วมสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนใน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งหนังสือ, เฟสติวัล (เทศกาล), อาหาร, การท่องเที่ยว, ดนตรี, เกม, กีฬา, ศิลปะ (รวมถึงศิลปะการแสดง), การออกแบบ, ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ และ แฟชั่น ผ่านไฮไลต์สำคัญ 4 โซน ประกอบด้วย
1) SOFT POWER GLOBAL POWER “สร้างแบรนด์แห่งชาติ” ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ จากกรณีศึกษาระดับนานาชาติ
2) THACCA THE DRIVING FORCE นำเสนอศักยภาพและโอกาสความเป็นไปได้ของไทยในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
3) POTENTIAL OF THAI SOFT POWER 3 ซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพสูง วาย-มู-ม่วน ที่พร้อมสร้างคุณค่าใหม่
4) THE POWER OF US ALL แบบสำรวจ Interactive เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย
นอกจากนี้ ภายในงานมีโซนพิเศษ ห้องเรียน Upskill Reskill ให้กับผู้ที่สนใจที่มีทักษะอยู่บ้าง หรือไม่มีทักษะให้สามารถเรียนรู้ ให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้
สร้างนักรบ “ซอฟต์พาวเวอร์” 20 ล้านคน ใน 4 ปี
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ ต้องการสร้างให้เกิดความแข็งแรงและยั่งยืนในสังคม ไม่ใช่แค่การจัดอีเวนต์ แต่พื้นฐานสำคัญ คือการสร้างคนให้มีทักษะระดับสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เป็นที่มาที่ต้องสนับสนุนมากถึง 11 อุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าทุกความฝันของคนไทยล้วนมีคุณค่าและมีความสำคัญต่ออนาคตประเทศ และจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้ทุกความฝัน
โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวโดยในช่วง 4 ปีของรัฐบาล ตั้งเป้าหมายอบรม ส่งเสริม และสร้างแรงงานทักษะสูงด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ 20 ล้านคน จะสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง เหล่านี้จะกลายเป็น “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” ที่จะช่วยขับเคลื่อนได้ในทุกเรื่องทั้ง อาหาร มวยไทย ท่องเที่ยว ความบันเทิง และจะสร้างรายได้ต่อคนต่อเดือนที่ประมาณ 16,000 บาท หรือปีละประมาณ 2 แสนบาท เท่ากับ 4 ล้านล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่จะงอกเงยทั้งในระบบอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ได้มากถึง 8 ล้านล้านบาทต่อปี นี่คือตัวเลขเป้าหมายที่วางไว้จะต้องเห็นภายในปี 2570
งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ ปีละ 2,000 ล้าน ไม่ใช่ 10,000 ล้านบาท!
ส่วนงบประมาณ ในการใช้ทำซอฟต์พาวเวอร์ ในอดีตที่ผ่านมาใช้คำว่า เศรฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านโครงการที่หน่วยงาน กระทรวงต่างๆ ได้ขอกันไปใช้ ตกปีละ 6-7 พันล้านบาท แต่ผลที่ได้กลับไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะต่างคนต่างทำงาน ดังนั้นในรัฐบาลนี้จึงต้องการให้เกิดการบูรณาการทำงานให้เห็นภาพใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน แต่การเกิดขึ้นของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพิ่งจะเกิดขึ้น ตอนนี้จึงต้องของบกลางเพื่อนำมาใช้ในช่วง 3 เดือนที่เหลือ ส่วนงบประมาณปี 68 ที่คณะกรรมการฯ ตั้งเป้าไว้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ตามที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่างบโครงการนี้จะอยู่ที่ 7,000-10,000 ล้านบาท เพราะส่วนสำคัญที่จะช่วยให้โครงการนนี้ขับเคลื่อนไปได้คือภาคเอกชนด้านต่างๆ ที่จะไปจับมือทำงานร่วมกัน สิ่งที่คณะกรรมการฯ และรัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้น คือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้เห็น โดยจะใช้งาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 ประกาศเดินหน้าเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ . – 611 สำนักข่าวไทย