fbpx

1 ปี กทม.เดินหน้ามาตรการลดฝุ่นแล้วกว่า 30 เรื่อง

กทม. 6 ก.พ.- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย 1 ปี กทม.เดินหน้ามาตรการลดฝุ่นแล้วมากกว่า 30 เรื่อง


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีกรรมการ 40 ท่าน มาจากหลายภาคส่วน เพราะปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นปัญหาที่ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก กรมธุรกิจพลังงาน กรมประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปริมณฑลต่าง ๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนวาระแห่งชาติเรื่องฝุ่นอยู่แล้ว ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งในวันนี้แต่ละหน่วยงานได้มารายงานในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว


สำหรับกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการในกรอบอำนาจหน้าที่ และได้มีการทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของฝุ่น PM2.5 ว่ามาจากไหน ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน คือ โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ และการเผาชีวมวล โดยปริมาณฝุ่นที่เกิดในกรุงเทพมหานครหลัก ๆ มาจากรถยนต์ดีเซล แต่ในช่วงที่ฝุ่นสูงสาเหตุหลักคือฝุ่นที่มาจากนอกพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากสถิติการตรวจพบจุดเผา เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 1 – 31 มกราคม ของปี 2566 และปี 2567 พบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ปี 66 จำนวน 25,856 จุด ปี 67 จำนวน 49,983 จุด สูงขึ้น 93% จุดเผาในประเทศ พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ปี 66 จำนวน 5,981 จุด ปี 67 จำนวน 3,252 จุด ลดลง 46% จุดเผาในประเทศ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 66 จำนวน 6 จุด ปี 67 จำนวน 1 จุด ลดลง 83% ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการอาเซียนเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมและช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคร่วมกันลดจุดความร้อน (การเผา)

ในเรื่องมาตรการ กรุงเทพมหานครได้จัดทำมาตรการลดฝุ่น 365 วัน มากกว่า 30 เรื่อง อาทิ “การลดควันดำ” ด้วยการกำจัดต้นตอฝุ่น โดยสถิติตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 – 5 ก.พ. 67 มีการตรวจวัดควันดำรถยนต์ 297,935 คัน สั่งการแก้ไข 3,079 คัน ตรวจสถานประกอบการ 12,380 ครั้ง สั่งการแก้ไข 8 แห่ง ตรวจสถานที่ก่อสร้าง 5,111 ครั้ง สั่งการแก้ไข 34 แห่ง ซึ่งในส่วนของเกณฑ์การตรวจสถานที่ก่อสร้าง หากไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ครั้ง จะถูกพักใบอนุญาตก่อสร้าง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ลงพื้นที่ตรวจสภาพสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 118 แห่ง พบมีข้อบกพร่อง 17 แห่ง สั่งระงับบริการ 7 วัน เพื่อเร่งแก้ไขเร่งด่วน

ส่วนมาตรการ “การปรับปรุงรถควันขาว” กทม.ได้จัดทำโครงการ “รถคันนี้#ลดฝุ่น” เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมเปลี่ยนไส้กรองอากาศรถยนต์ ปัจจุบัน (ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 66 ถึงวันที่ 29 ม.ค. 67) มีจำนวนรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองแล้ว จำนวน 168,442 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจรได้ 8% ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายได้ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์ไว้ที่ 300,000 คัน ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เชื่อว่าสามารถทำได้ ซึ่งหากทำได้จะสามารถลด PM2.5 จากการจราจรได้ถึง 15% จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลดการปล่อย PM2.5 อย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจร่วมโครงการสามารถดูโปรโมชั่นเปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้ที่ https://drive.google.com/file/d/16PCsZC-0oGlOQmLoFkUCmjF88fs2A4qN/view?usp=sharing อีกทั้งยังมีนโยบายการเปลี่ยนน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งน่าจะทำให้ในระยะยาวสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จากภาคการจราจรดีขึ้น


ด้านมาตรการ “การลดการเผาในที่โล่ง” ในภาคการเกษตร กรุงเทพมหานครได้มีการซื้อรถอัดฟางให้เกษตรกรในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี คันนายาว ได้ใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร และทำให้เกษตรกรสามารถนำฟางอัดมาขายเป็นรายได้ได้อีกด้วย อนาคตอาจจะมีการพัฒนาเรื่องการจัดเก็บฟางอัดเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมต่อไป สำหรับตอซังที่เหลือได้มีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมจุลินทรีย์ตัวใหม่ที่สามารถลดระยะเวลาการย่อยสลายจาก 30 วัน เหลือ 7 วัน ส่วนอีกมาตรการหนึ่งคือ “การพัฒนาพื้นที่ลักลอบทิ้งขยะ” โดยใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ เพื่อลดการลักลอบเผาขยะตามพื้นที่ต่าง ๆ

สำหรับแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต กรุงเทพมหานครมีเครือข่าย Work from Home (WFH) จำนวน 136 แห่ง รวมพนักงาน 53,545 คน โดยจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อคาดการณ์ค่าฝุ่นเป็นสีแดง หรือค่า PM2.5 มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกัน 3 วัน ใน 2 กรณี คือ 1. ค่าฝุ่นสีแดง 15 เขต (30% ของจำนวนเขตทั้งกทม.) หรือ 2. ค่าฝุ่นสีแดงพื้นที่กรุงเทพตะวันออก (ต้นลม) 7 เขต ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ถึงระดับนี้จึงยังไม่มีการประกาศ WFH โดยเหตุผลที่จะต้อง WFH คือ ทำให้ฝุ่นจากการจราจรลดลง ประชาชนได้อยู่ที่บ้านซึ่งน่าจะมีการป้องกันที่ดีกว่า

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานครมีการออกข้อบัญญัติให้รถเมล์ในกทม.ต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 7 ปี แต่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า กทม.ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่า กทม.ไม่ได้มีอำนาจครอบคลุมทุกด้าน จึงต้องดำเนินการภายในกรอบอำนาจที่มี โดยปลัดกรุงเทพมหานครยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตพิจารณานำแนวทางการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญปรับใช้ตามสถานการณ์ ผู้อำนวยการเขตจะประเมินสถานการณ์ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ 1. มีเหตุเดือดร้อนรำคาญ 2. มีแหล่งกำเนิดฝุ่นมากกว่า 1 แห่ง 3. มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ก่อนออกประกาศ เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมกิจกรรม/กิจการในพื้นที่ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝุ่น ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข

ในเชิงสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร รวมถึงมีการประสานเครือข่ายขยายห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยดำเนินการแล้ว 61 โรงเรียน ทั้งนี้ กทม.มีห้องเรียนชั้นอนุบาล 429 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 1,743 ห้อง มีเครื่องปรับอากาศ 697 ห้อง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ 1,046 ห้อง และรวมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก (ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร) ประมาณ 240 แห่ง ปัจจุบันมีเครื่องกรองอากาศแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเครื่องปรับอากาศต่อไป

สุดท้ายเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาสังคม และประชาชน อาทิ การจัดทำโครงการรถคันนี้#ลดฝุ่น เครือข่าย WFH เครือข่ายนักสืบฝุ่น สภาลมหายใจ และการใช้ Traffy Fondue ในการรับแจ้งเหตุ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ความร่วมมือต่าง ๆ จะดีขึ้น แต่สุดท้ายอยู่ที่การเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะฝุ่นเกิดจากคน หากคนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็ยากที่จะลดฝุ่นได้ ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมมี 2 รูปแบบ คือ ใช้แรงจูงใจ และเชิงบังคับ (นโยบาย/กฎหมาย)

ทั้งนี้ สถานการณ์ตอนนี้น่าจะเริ่มดีขึ้นเพราะมีลมใต้พัดเข้ามา แต่อนาคตอาจจะมีฝุ่นจากเกษตรกรรมในประเทศมากขึ้น ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด. 417.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โผ ครม. “เศรษฐา 2” ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้

โผ ครม. เศรษฐา 2 ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ พปชร. ยึด ก.เกษตรฯ ด้าน “สุชาติ” นั่ง รมช.พาณิชย์ พร้อมทาบ “พวงเพ็ชร” ที่ปรึกษานายกฯ โค้งสุดท้ายสลับ “สุดาวรรณ” นั่ง ก.วัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” ไป ก.ท่องเที่ยวฯ

รวบ 2 ใน 4 อุ้มฆ่าหนุ่มไทใหญ่ทิ้งป่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

รวบแล้ว 2 ใน 4 ผู้ต้องหาอุ้มฆ่า “จ๋อมวัน” หนุ่มไทใหญ่ ก่อนนำศพไปทิ้งในป่าที่ จ.เชียงใหม่ ปมสังหารอ้างไม่พอใจถูกแซวเรื่องหญิงคนสนิท

มหาวิทยาลัยแจงเหตุ นศ.สาวปี 3 แทงแฟน นศ.ปี 1 สาหัส

มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนักศึกษาหญิงทำร้ายนักศึกษาชาย ในหอพักจนบาดเจ็บสาหัส ด้านตำรวจยืนยันนักศึกษาหญิงที่ก่อเหตุมอบตัวแล้ว ยอมรับเป็นแฟนและทะเลาะกัน

รวบผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพที่นนทบุรี นำตัวเข้าเซฟเฮาส์

รวบตัวชายไทย อายุประมาณ 35-40 ปี ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพ ภายในซอยจัดสรรสวิง 2 ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตำรวจนำตัวเข้าเซฟเฮาส์ อยู่ระหว่างสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน

ข่าวแนะนำ

ทหารอเมริกันยกพลเที่ยวเมืองพัทยาเงินสะพัด

พัทยาช่วงนี้คึกคัก เพราะทหารอเมริกันยกพลขึ้นบก บุกพัทยากว่า 6,000 คน ผู้ประกอบการยิ้มรับ คาดเงินสะพัดจำนวนมาก

จนท.นำหุ่นยนต์ 4 ขา ช่วยตรวจจับความร้อน

เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บขยะเคมีอันตราย จ.ระยอง ก่อนที่ นายกฯ จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บ่ายวันนี้ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนยังคงระดมกำลังหล่อเย็นพื้นที่โรงงาน ด้านตำรวจพิสูจน์หลักฐาน นำหุ่นยนต์โรบอท 4 ขา ช่วยตรวจจับสัญญาณความร้อน

“เศรษฐา” ลงพื้นที่สวนทุเรียน สั่งกรมชลแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน

“เศรษฐา”ลงพื้นที่ สวนทุเรียน สั่งกรมชลประทานแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน – หาพื้นที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอ – ทำ One Stop Service ก่อนชิมทุเรียนหลากหลายพันธุ์

โผ ครม. “เศรษฐา 2” ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้

โผ ครม. เศรษฐา 2 ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ พปชร. ยึด ก.เกษตรฯ ด้าน “สุชาติ” นั่ง รมช.พาณิชย์ พร้อมทาบ “พวงเพ็ชร” ที่ปรึกษานายกฯ โค้งสุดท้ายสลับ “สุดาวรรณ” นั่ง ก.วัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” ไป ก.ท่องเที่ยวฯ