กรุงเทพฯ 5 ม.ค. – สรุปยอด 7 วัน ปีใหม่ 2567 คุมประพฤติ 7,864 คดี กรุงเทพฯ ครองแชมป์ 469 คดี, นครพนม 351 คดี และหนองคาย 328 คดี ตามลำดับ
วันนี้ (5 ม.ค.) นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ มอบหมายให้นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปปิดยอดสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในวันสุดท้ายของ 7 วัน ควบคุมเข้มข้นปีใหม่ 2567 (4 ม.ค.67) สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวนทั้งสิ้น 1,150 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.65 คดีขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 และคดีขับเสพ 49 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.26 ยอดสะสม 7 วัน (29 ธ.ค.66-4 ม.ค.67) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,102 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.06 , คดีขับรถประมาท 5 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 และคดีขับเสพ 233 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.88
จังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 469 คดี นครพนม จำนวน 351 คดี และหนองคาย จำนวน 328 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ.2566 มีจำนวน 8,567 คดี กับปี พ.ศ. 2567 จำนวน 7,864 คดี พบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 703 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.2 สำหรับในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 765 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 28,857 คน
รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำหรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมต่อไป.-119-สำนักข่าวไทย