คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียวแผนฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส สาวไทย 11-20 ปี

22 ก.ย. – คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนเร่งรัดฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูก ตามเป้าหมาย Quick Win ใน 100 วัน


คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในหญิงอายุ 11-20 ปี รับการขับเคลื่อน Quick Win นโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ฉีด 1 ล้านโดส ภายใน 100 วัน ชี้หากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% และการฉีดหลังอายุ 11 ปี ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้

วันนี้ (22 กันยายน 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง โดยเห็นชอบ เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ตาม Quick Win ของนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่กำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านโดส ในระยะ 100 วัน เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,500 ราย/ปี และมีผู้เสียชีวิต 2,000 ราย/ปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% ซึ่งวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้ดีโดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้ ประเทศไทยจึงมีการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงชั้น ป.5 หรืออายุ 11 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 อย่างไรก็ตาม การฉีดในช่วงอายุหลังจากนั้นก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ ซึ่งขณะนี้ เด็ก ป.5 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะอยู่ชั้น ม.5 หรืออายุ 17 ปี ดังนั้นการขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงอายุ 20 ปี จึงเหลือเพียงกลุ่มอายุ 18-20 ปี ที่อยู่ชั้น ป.5 ก่อนที่จะมีนโยบายนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วง ม.6 ถึงอุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงจะเร่งฉีดเก็บตกในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบด้วย

สำหรับแผนการฉีดวัคซีน HPV ในระยะ 100 วันแรกนั้น หลังจากสื่อสารนโยบายไปถึงผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคม จะจัดทำแนวทางการให้บริการ สำรวจจำนวนกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมวัคซีน พัฒนาระบบฐานข้อมูล MOPH IC พร้อมทั้งประสานและลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อม จัดแคมเปญรณรงค์คิกออฟ และจัดบริการฉีดนำร่องเขตละ 1 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ จากนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 จะเร่งรัดให้บริการฉีดวัคซีนโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา และหน่วยบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครกำหนด แบ่งการฉีดเป็น 2 รูปแบบ คือ กลุ่มนักเรียน ฉีดที่สถานศึกษาหลังเปิดเทอม ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงอายุ 18-20 ปี จะฉีดที่หน่วยบริการใกล้บ้าน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในปี 2567 เพื่อลดการป่วยรุนแรง การเสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ได้ให้มีการศึกษาคำแนะนำในการฉีดเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ดังนี้ โรคติดต่อที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้แจ้งมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เตรียมพร้อมทีม CDCU ในการสอบสวนควบคุมโรค และเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง และ อสม. และ 2.โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ซึ่งประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย โดยมีความเสี่ยงจากการมีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนหรือกับคนแปลกหน้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชน โดยเน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


โรคติดต่อที่สถานการณ์ดีขึ้น ได้แก่ 1.โควิด-19 ซึ่งยังคงติดตามสถานการณ์ระบาด เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ และรณรงค์ฉีดวัคซีนประจำปีป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยง 608 และ 2.ไข้มาลาเรีย ยังคงมาตรการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ชายแดน ตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยทันที พร้อมเร่งรัดการควบคุมยุงพาหะในพื้นที่ที่มีการระบาดโดยเร็ว. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

เริ่มใช้เครื่องจักรหนักเปิดซากอาคาร สตง.ถล่ม

102 ชั่วโมงแล้ว สำหรับปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม หน่วยกู้ภัยจากนานาชาติให้ความหวังว่ายังมีโอกาสเจอผู้รอดชีวิต ทำให้การค้นหาวันนี้ต้องแข่งกับเวลาอย่างเต็มที่

ทองไทยนิวไฮต่อเนื่อง ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 550 บาท

ทองคำไทยผันผวนหนัก ปรับเปลี่ยน 18 ครั้ง ก่อนปิดตลาดปรับเพิ่ม 550 บาท ระหว่างวันขึ้นไปแตะนิวไฮ ทองคำแท่งขายออก 50,700 บาท ทองรูปพรรณขายออก 51,500 บาท ขึ้นไปต่อเนื่อง