21 ก.ย. – สภาพแวดล้อมของโลกที่แปรเปลี่ยน ทำให้วิถีการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนตาม แนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กำลังจะถูกนำมาจุดประกายในหมู่ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว
ความชุ่มชื่นของผืนป่าหน้าฝนในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ชาวตะวันออกกลางที่นิยมเดินทางมาเป็นครอบครัว และถือโอกาสสอนให้ลูกหลานรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ เรื่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ไม่ปล่อย ไม่ผลิตคาร์บอน ที่สามารถเริ่มจากตัวเรา เพราะทุกการกิน เที่ยว นักท่องเที่ยวแต่ละคนผลิตน้ำเสีย 1.95 ลูกบาศก์เมตรต่อคืน ใช้ไฟฟ้า 0.7 หน่วยต่อคืน และรับประทานอาหาร 3 มื้อ เกิดคาร์บอน 0.55 กิโลกรัมต่อคน
แนวคิดท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ มาจากความตระหนักถึงสถานการณ์ความแปรปรวนของโลก ที่มาผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ถ่ายทอดแนวคิด และวิธีการลดคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ปางช้าง หรือที่พัก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับห้องพัก การลดการใช้พลาสติก เพราะกิจกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดคาร์บอนได้ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ยังไม่นับการใช้ชีวิตกินอยู่ การสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และหากต้องการส่งเสริมให้เกิดเป็นนโยบายการท่องเที่ยวสีเขียว จึงมีแนวคิดนำเรื่องนี้หารือกับสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม
ปัจจุบันทาง บพข. มีการคำนวณการเกิดคาร์บอนใน 50 เส้นทางท่องเที่ยวใน 26 จังหวัด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวทีต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ก่อมลพิษ และต้องการช่วยโลกให้ถูกทำร้ายน้อยที่สุด . – สำนักข่าวไทย