ก.ยุติธรรม 17 ก.ค. – กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีมติจ่ายเงินเยียวยากรณีน้องปีใหม่ เด็กหญิงวัย 12 ปี ที่ถูกผู้ต้องหาตีด้วยไม้เบสบอล ก่อนนำศพยัดถังน้ำแข็งโบกปูนอำพราง เป็นเหตุอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญในสังคม เป็นเงินรวม 2 แสนบาท ตามเพดานสูงสุดกรณีเสียชีวิต
สืบเนื่องจากกรณีข่าวพ่อเลี้ยงหนุ่มโหดฆ่าสยองน้องปีใหม่ ลูกเลี้ยงเด็กหญิงวัย 12 ปี โดยใช้ไม้เบสบอลฟาดก่อนนำศพยัดถังน้ำแข็งโบกปูนอำพราง แต่สำนึกผิดหลังก่อเหตุขับรถไปกับเมียสารภาพกับญาติ พลั้งมือฆ่าเพราะโมโหที่ลูกเลี้ยงแอบกินอาหารเสริมราคาแพงที่กำลังจะแพ็กส่งให้ลูกค้า จากนั้นได้หลบหนีและถูกจับได้ในเวลาต่อมา
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่อุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญในสังคม และเป็นที่น่าสนใจของสาธารณชน ซึ่งเดิมทายาทอาจมีสิทธิรับเงินจำนวน 110,000 บาท แต่วันนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร (คณะที่ 3) โดยมีนางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานและมีคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้แทน สำนักงาน คปภ. และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญในสังคมและเป็นเหตุร้ายแรงที่เกิดกับเด็กด้วย จึงได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทผู้เสียหายตามเพดานสูงสุดในการเยียวยาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้เพิ่มเติม ได้แก่ (1) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวน 100,000 บาท (2) ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท (3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 40,000 บาท และค่าความเสียหายอื่น จำนวน 40,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 200,000 บาท
โฆษกกรมฯ กล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559) ผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับการเยียวยา ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น ซึ่งมีทั้งกรณีผู้เสียหายที่เสียชีวิต กับผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บที่ต้องรับการรักษาพยาบาล และขอเรียนว่า ทั้งกรณีที่เป็นข่าวและที่ไม่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ กระทรวงยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และอย่างเสมอภาค โดยได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย หรือทายาทอย่างเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ กรณีตกเป็นเหยื่อ ผู้เสียหาย หรือจำเลยในคดีอาญา สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และ ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง. -สำนักข่าวไทย