กทม. 25 มี.ค.-กรมวิทย์ฯ ร่วมภาคีจีโนมิกส์ ถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 10,000 คน จากทั่วประเทศ ปัจจุบันสามารถถอดรหัสได้ประมาณ 350 ตัวอย่าง ก่อให้เกิดประโยชน์การวินิจฉัยโรคหายาก แม่นยำมากขึ้น
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยชาวไทย 50,000 ราย ด้วยงบประมาณ 4,470 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยไม่ได้หรือโรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และด้านเภสัชพันธุศาสตร์ ใช้ในการวางแผนป้องกัน รักษาโรคให้เหมาะสม ยกระดับการบริการทางการแพทย์และการเข้าถึงการบริการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น
โดยการถอดรหัสพันธุกรรม เริ่มครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ปัจจุบันสามารถถอดรหัสได้ประมาณ 350 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และมีตัวอย่างดีเอ็นเอที่ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วจำนวน 10,751 ตัวอย่าง ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้าน การวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำนายโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป.-สำนักข่าวไทย