รพ.ศิริราช 2 พ.ย. – ศิริราชเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชีย สามารถระบุการดื้อโบรายยี่ห้อ เลี่ยงยี่ห้อดื้อ เพียงใช้เลือด 5 ซีซีตรวจวิเคราะห์ พบในโบทูลินัมแบรนด์เอเชียมากกว่า พร้อมแจงสาเหตุเสี่ยงดื้อ ฉีดเยอะ บ่อย ใช้ผิดประเภท ฉีดลดขนาดกล้ามเนื้อ
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย นพ. วิศิษฐ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช, อ.พญ. ยุพดี พิทักษ์ปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ ,รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน และ ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิรริราชพยาบาล แถลงเปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเซียอาคเนย์
รศ.นพ.ยุทธนา กล่าวว่า โบทูลินัมไม่ได้ใช้เพื่อการเสริมความงามเพียงอย่างเดียว แต่ใช้รักษาโรคมานานแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เช่น รักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และคอบิดเกร็ง ซึ่งอยู่ในกระบวนการรักษาและเบิกจ่ายบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ด้วยภาวะการใช้โบทูลินัมในการรักษา ทำให้เกิดภาวะดื้อโบ ซึ่งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินตรวจหาภาวะการดื้อโบได้ในระดับผลิตภัณฑ์โบทูลินัมรายยี่ห้อ ช่วยลดและแก้ไขปัญหาการดื้อยา เพื่อฉีดโบทูลินัมต่อไปได้ เพื่อคุณภาพชีวิต โดยการตรวจหาภาวะดื้อโบ จะมีการเจาะเลือดคนไข้ ปริมาณ 5 ซีซี ใช้เวลาตรวจประมาณ 10 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ ทราบผล ซึ่งจะมีข้อความระบุ ว่า มีภาวะดื้อหรือไม่ดื้อโบ มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1,600 บาท
ศ.พญ.รังสิมา กล่าวว่า ปัจจุบันในกรณีเสริมความงามพบการดื้อโบมากขึ้น สาเหตุมากจากฉีดบ่อย ๆ และจำนวนยูนิตเยอะ โดยตัวชี้วัดว่าเข้าข่ายภาวะดื้อโบ ได้แก่ การฉีดบ่อยมากกว่า 3-4 เดือนครั้ง ไม่ได้ผล ซึ่งตอนแรกบางคนคิดว่าเพราะวัยหรือ ริ้วรอยมากขึ้น หรือการฉีดเพิ่มปริมาณ หากฉีดโบบ่อยและเยอะ หรือหากนิยมฉีดสลับยี่ห้อ ก็เสี่ยงที่จะดื้อโบ เช่นเดียวกับคนที่ฉีดโบผิดประเภท แทนที่จะใช้แก้ ลดริ้วรอย กลับฉีดลดขนาดกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า หรือน่อง ทำให้เพิ่มความเสี่ยง ทั้งนี้ เมื่อเกิดการดื้อโบ ก็จะทำให้ต่อไปฉีดไม่ได้ผล แต่เมื่อสูงวัยขึ้น หากมีการเจ็บป่วยโรคกล้ามเนื้อ ก็อาจไม่สามารถใช้โบทูลินัมรักษาได้ ซึ่งจากการติดตามเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยมีภาวะดื้อปี 2564-2565 จำนวน 137 คน พบว่ามีภาวะดื้อโบ 79 คน หรือคิดเป็น 58%
ศ.พญ.รังสิมา ยังกล่าวว่า จากการติดตามภาวะดื้อโบ ในแบรนด์ของโบทูลินัมที่ผ่านการรับรองจาก อย. พบว่าแบรนด์ในส่วนของเอเชียมีความเสี่ยงดื้อโบมากกว่าฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตาม การใช้โบทูลินัม ควรมีการพิจารณาจากแหล่งที่มาว่าได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และแพทย์ที่ดำเนินการฉีดว่าได้รับการรับรองจากแพทย์หรือไม่ ทั้งนี้ ยังย้ำว่าการฉีดโบ ไม่ควรฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
อ.พญ.ยุพดี กล่าวว่า การรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และคอบิดเกร็ง ต้องมีการฉีดโบทูลินัม 100-150 ยูนิต โดยทั่วโลกพบการดื้อโบทูลินัม จากการฉีด เพื่อรักษาโรคดังกล่าวประมาณ 14 % ซึ่งการตรวจภาวะดื้อยา หากตรวจพบสามารถแก้ปัญหาเรื่องของการดื้อโบได้.-สำนักข่าวไทย