กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผย “บัวหลวง” ดอกไม้ถวายพระ มีสรรพคุณทางยา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพได้
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันออกพรรษาปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม กิจกรรมออกพรรษาสำหรับฆราวาสหรือประชาชนที่มักจะขาดไม่ได้ ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า รับฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าว ทั้งการทำบุญตักบาตร ไหว้พระ มักจะมีการนำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา “ดอกบัวหลวง” เป็นดอกไม้ที่นำมาบูชาพระอย่างแพร่หลาย ทางการแพทย์แผนไทยนำส่วนต่างๆ ของบัวหลวง มาใช้ประโยชน์ได้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำใบมาใช้ห่ออาหาร ใช้กลีบดอก เมล็ด ไหลและรากบัว มารับประทาน ประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน ในทางการแพทย์แผนไทย นำส่วนต่างๆ ของบัวหลวงมาใช้ในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพ
สรรพคุณส่วนต่างๆ ของบัวหลวง มีดังนี้ กลีบดอกบัว บำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ แก้ไข้ เกสรบัว ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลีย นอกจากนี้ เกสรบัวหลวง ยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ตำรับยาเขียวหอม สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส ตำรับยาตรีเกสรมาศ มีสรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย เมล็ดบัวหรือลูกบัว ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดีบัว มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และลดความดันโลหิต ช่วยการนอนหลับ ใบ บำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย ไหลบัว ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง รากบัว แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ บำรุงกำลัง
นอกจากบัวหลวงจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว บัวหลวงยังสามารถนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพได้หลากหลายเมนู เช่น แกงส้มไหลบัว ซุปรากบัว เมี่ยงกลีบบัวแดง ยำส้มโอกลีบบัวแดง ยำเกสรบัวหลวง หรือนำมาประกอบเป็นเมนูเครื่องดื่มและอาหารว่าง ได้แก่ น้ำรากบัว ชาเกสรบัวหลวง ธัญพืชตุ๋นรากบัว เป็นต้น
นพ.เทวัญ กล่าวในตอนท้ายว่า ในขณะที่ทุกคนเข้าวัดทำบุญ แต่ยังควรตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะคลี่คลาย แต่ประชาชนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาก โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และหากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ Line @DTAM. – สำนักข่าวไทย