กทม. 8 ต.ค. – ผู้ว่าฯ กทม. สัญจรเขตดินแดง ติดตามปัญหายาเสพติด สั่งการเข้มงวดดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา
(8 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการลงพื้นที่ “ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร เขตดินแดง” เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการ ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตว่า เขตดินแดงเป็นเขตที่มีผู้ใช้แรงงาน และชุมชนจำนวนมาก จากการสอบถามเรื่องปัญหายาเสพติด พบว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 69 แห่ง ได้ให้คำปรึกษาและให้ยาอย่างต่อเนื่อง แต่มีศูนย์ฯ ที่ให้บริการรักษาโดยตรงผ่านคลินิกก้าวใหม่ จำนวน 18 แห่ง เน้นให้การรักษาผู้เสพเฮโรอีน และยาบ้า นอกจากนี้ยังมีบ้านพิชิตใจซึ่งให้การรักษาแบบพักค้าง ระยะเวลารักษา 1 เดือน และรพ.ตากสิน รวมแล้วมีสถานพยาบาลในสังกัด กทม. จำนวน 20 แห่ง มีผู้เข้ารับการบำบัดและรักษา จำนวนกว่า 1,000 คน ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ติดเฮโรอีนจะรักษาด้วยการให้ยาอื่นทดแทน ซึ่งมีสัดส่วนผู้ติดเฮโรอีนมากถึง 80% และสำหรับยาบ้าไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยใจ มีสัดส่วนผู้ติด 20%
ในส่วนของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จากการรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่าหลายบ้านมีการปลูกกระท่อมและกัญชา โดยประชาชนเชื่อว่าสามารถลดความดันและรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อกินแล้วจะไม่ต้องรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าได้ผลตามหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือดีขึ้นในแง่จิตใจเท่านั้น รวมทั้งต้องเก็บข้อมูลว่าการใช้แพทย์ทางเลือกกับการลดยาแผนปัจจุบันจะมีผลบวกหรือลบอย่างไร ซึ่งในพื้นที่มีคนใช้แรงงานจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่ศึกษาได้ นอกจากนี้ยังกำชับให้เฝ้าระวังในโรงเรียนด้วย เนื่องจากหลายบ้านทำการปลูกกัญชาและใบกระท่อม จะทำให้เยาวชนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง และข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลความปลอดภัยในการเข้าถึงพื้นที่โรงเรียน และสถานที่อื่นด้วย อาทิ พื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข เนื่องจากจะมีผู้เสพยามารับยาทุกวัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำท่วมว่า ที่ผ่านมาได้ใช้นโยบายเน้นเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ ทำการลอกท่อต่อเนื่อง พบว่าปัญหาน้ำดีขึ้นมาก รวมทั้งได้ให้สำนักการระบายน้ำดูแลระบบการระบายน้ำในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ในส่วนของเขตดินแดงต้องดูในพื้นที่ด้านหลังม.หอการค้า และถนนประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวัง
สำหรับแผนการจัดการน้ำ ในขณะนี้ที่กังวลคือฝั่งตะวันออก ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำ เพื่อใช้อุโมงค์ระบายน้ำที่นอกพื้นที่ กทม. ในการหารือกรมชลประทานแจ้งว่าจะระบายผ่านประเวศ เพื่อออกแปดริ้ว โดยกรมชลประทานจะทำคันป้องกัน ซึ่งกทม.ก็เห็นด้วย และ กทม.ได้เสนอการทำประตูน้ำ/เขื่อนให้ครบ แบ่งเป็นแผนระยะ 1-2 ส่วนใหญ่อยู่ในแผนการดำเนินงาน ปี 67-68 ในระหว่างปี 66 ก็จะใช้วิธีการขุดลอกเช่นเดิม
“จริง ๆ แล้ว หากดูพื้นที่ลาดกระบัง แนวคิดของกรมชลประทานจะทำเขื่อนป้องกันในคลองต่าง ๆ เพื่อช่วยให้น้ำออก ซึ่งจะทำได้ดีไม่แพ้อุโมงค์ กทม.ก็เคารพในข้อเสนอของกรมชลประทาน แต่ขอให้มีการระบาย 50 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยที่ไม่กำหนดระยะเวลา เพื่อให้เราสามารถนำน้ำออกได้ด้วย ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานและตั้งคณะกรรมการย่อย เพื่อติดตามความก้าวหน้าทุกโครงการและให้เร่งบรรจุทุกโครงการในแผน มีการวางแผนภาพรวมระยะ 20 ปี คาดว่าจะปรับปรุงภาพรวมการระบายน้ำได้ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
โดยเขตดินแดงมีพื้นที่ 8.354 ตร.กม. ประชากรทั้งหมด 1.1 แสนคน ชุมชน 23 แห่ง หนาแน่นที่สุดที่แฟลตเคหะชุมชนดินแดง มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 3 แห่ง ลานกีฬา 33 ลาน และศูนย์บริการสาธารณสุข 2 แห่ง
จุดเสี่ยงน้ำท่วม 2 จุด คือ ถนนประชาสุข และถนนประชาสงเคราะห์ (หอนาฬิกาแฟลต 28) และมีจุดเฝ้าระวัง 4 จุด ได้แก่ ซอยชานเมือง ปากซอยประชาสงเคราะห์ 27 ปากซอยสุทธิพร 2 และซอยอินทามระ 45 ซึ่งเขตฯ ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยขุดลอกคูคลอง ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำครบ 100% ตามแผน มีการขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตพญาไท เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงและจุดอ่อน แก้ไขจุดเชื่อมต่อท่อระบายน้ำถนนวิภาวดี ซอยวิภาวดี 2 และสร้างประตูกันน้ำย้อนบริเวณคลองยายสุ่น ซอยชานเมือง
สำหรับในช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ชุมชนซอยแสนสุข ซอยประชาสงเคราะห์ 24 ถนนประชาสงเคราะห์ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานสมาคมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ชุมชนแสนสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชน และรับฟังปัญหาของชุมชน ณ อาคารศูนย์กลางเทวา ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้สอบถามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก โดยชุมชนได้รายงานปัญหาในพื้นที่ซึ่งปัญหาที่ชุมชนขอให้ผู้บริหารพิจารณาดำเนินการคือ ค่าอาหารกลางวันเด็ก และสวัสดิการของครูอาสา
จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่บริเวณตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ เพื่อติดตามปัญหาการจราจร ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณจุดที่ทำการค้า ติดตามความคืบหน้าโครงการงานก่อสร้างรางระบายน้ำ ค.ส.ล. ถนนประชาสงเคราะห์ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ และถนนประชาสุข ช่วงจากคลองนาซองถึงคลองห้วยขวาง (2 ฝั่ง) ต่อมาได้ลงพื้นที่ถนนอินทามระ บริเวณจุดที่มีน้ำท่วมขัง/รอการระบายในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก และรับฟังปัญหาของประชาชน .-สำนักข่าวไทย