7 มี.ค. – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงการบิน เนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ
วันนี้ (7 มีนาคม 2568) เวลา 8 นาฬิกา 55 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง ทอดพระเนตรการแสดงการบิน เนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ เป็นกิจกรรมหนึ่งของการจัดงานครบ 88 ปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคมนี้




กระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะกรมทหารอากาศขึ้นเป็นกองทัพอากาศ ตั้งแต่ปี 2480 และได้แสดงบทบาทสำคัญในการปกป้องอธิปไตยของชาติ การพัฒนากำลังทางอากาศให้ก้าวหน้าตลอดมา งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติแสดงถึงความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิและขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งแผนการพัฒนากองทัพอากาศในอนาคต ความพร้อมของกองทัพอากาศในด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมและกระชับความร่วมมือภายในประเทศ




โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงการบิน ชุดที่ 1 ประกอบด้วย การแสดงการบินจากกองทัพอากาศไทย “Formation Display with National Colors Smoke” โดยเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ 2 (AU-23), เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 2 (T-50TH) และเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 (F-16 MLU) รวมถึง “การแสดงการบิน Gripen Demo” ของ นาวาอากาศตรี ชาติกล้า นกเอี้ยงทอง การแสดงการบิน “August 1st” จากฝูงบินผาดแผลง August 1st กองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝูงบินนี้ก่อตั้งปี 2505 ตั้งชื่อตามวันสถาปนากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน คือ วันที่ 1 สิงหาคม 2470 ทำการแสดงโดยใช้เครื่องบินรบที่จีนผลิตขึ้นเอง แสดงขีดความสามารถและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการบินและเทคโนโลยีการทหารของจีน ปัจจุบันใช้เครื่องบิน J-10 ในการแสดง แสดงในงานสำคัญๆ มาแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เคยทำการแสดงในไทย เมื่อปี 2558 การบินครั้งนี้ใช้รูปแบบการบินโดยใช้ควันสีแดง ขาว น้ำเงิน และเหลือง ซึ่งเป็นสีของธงชาติทั้ง 2 ประเทศ แสดงออกถึงมิตรภาพ ความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ และเป็นปีครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน “การแสดงการบินสมรรถนะ เครื่องบิน F-35A Demo” จากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดยนาวาอากาศตรีหญิง เมลานี คลูสเนอร์ นามเรียกขาน “MACH” ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมสาธิต F-35A Lightning II กองบินขับไล่ที่ 388 ณ ฐานทัพอากาศฮิลล์ มลรัฐยูทาห์ เป็นผู้นำทีมที่อุทิศตนเพื่อแสดงความสามารถทางทหารอากาศชั้นสูงของ F-35A ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนอเนกประสงค์ ยุคที่ 5 ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง “MACH” มีชั่วโมงบินสะสมกว่า 1,100 ชั่วโมง ในเครื่องบินหลายแบบ ได้แก่ T-6, T-38C, F-16C, F-35B และ F-35A รวมถึงเป็นนักบินหญิงคนแรกของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่ได้ทำการบิน F-35B ขึ้นลงทางดิ่ง

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ อาคารท่าอากาศยานทหาร 2 เช่น “นิทรรศการภารกิจเครื่องบิน Gripen บินลงถนน” กองทัพอากาศได้ทดสอบการบินขึ้น-ลงบนถนนหลวงครั้งแรกของเครื่องบินขับไล่โจมตี Gripen ที่ถนนหลวงหมายเลข 4287 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องบินขับไล่โจมตีฯ ให้มีความอ่อนตัวในการวางกำลัง และการปฏิบัติภารกิจได้จากทุกสนามบิน และในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทั่วประเทศ เพื่อทดสอบขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจโดยไม่ใช้สนามบินให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์การวางกำลัง ระดมสรรพกำลังสำหรับภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ ผลการทดสอบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของเครื่องบินขับไล่ ที่สามารถขึ้น-ลงบนถนนได้ หากเกิดเหตุสนามบินถูกทำลาย ซึ่งเครื่องบิน Gripen ใช้ระยะทางวิ่งสั้นมากประมาณ 700-800 เมตร

นิทรรศการเครื่องบินฝึกจำลอง Gripen E/F Simulator เป็นเครื่องบินฝึกจำลองของ Gripen E/F เครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนรุ่นล่าสุด สามารถจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการบิน ให้นักบินได้ฝึกฝนการบิน เพื่อความปลอดภัยก่อนการขึ้นบินจริง



ในการนี้ มีพระราชปฏิสันถารกับนักบินในฝูงบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และไทย มีการจัดแสดงนิทรรศการ “พระมหากษัตริย์นักบิน” ถ่ายทอดพระราชประวัติด้านการบินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ปี 2519

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปด้านหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทอดพระเนตรเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ F-5E และเครื่องบิน T-50 อากาศยานไอพ่นความเร็วเหนือเสียงและเป็นอากาศยานโจมตีเบา ซึ่งกองบิน 6 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ นำมาจัดแสดงในงานฯ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักบินขับไล่ไอพ่นพระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงทำการบินกับอากาศยานกองทัพอากาศได้เกือบทุกประเภท ทั้งอากาศยานปีกหมุน อากาศยานปีกตรึงแบบใบพัด และเครื่องยนต์ไอพ่น ทรงเป็นนักบินขับไล่ที่มีชั่วโมงบินต่อเนื่องมากกว่า 2,800 ชั่วโมงบิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับนักบินขับไล่ทั่วโลกที่จะทำได้ ทรงถ่ายทอดพระประสบการณ์ผ่านการทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานการฝึกสอนทั้งวิชาการภาคพื้นและการฝึกบินแก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ
ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงการบิน ชุดที่ 2 คือ “การแสดงการบิน Suryakiran” จากกองทัพอากาศอินเดีย โดยฝูงบินผาดแผลง Suryakiran ตั้งขึ้นปี 2539 มีความหมายว่าแสงอาทิตย์ สื่อถึงแสงสว่างและความปรารถนาดี ทำการแสดงโดยใช้เครื่องบินแบบ Hawk MK 132 ที่ผลิตในอินเดีย เป็นฝูงบินผาดแผลงฝูงเดียวในทวีปเอเชียที่ใช้อากาศยาน 9 ลำในการแสดง แสดงถึงมาตรฐานการปฏิบัติระดับสูงและวัฒนธรรมของกองทัพอากาศอินเดีย และเป็นทูตเจริญความสัมพันธ์ทางอากาศของประเทศอินเดียด้วย
ทุกการแสดงการบินจากนักบินของกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศจากมิตรประเทศในวันนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างกัน แต่ยังสะท้อนถึงสมรรถภาพของกองทัพอากาศ และสมรรถนะของนักบินที่ต้องมีวินัยขั้นสูงในการฝึกฝนทักษะการบินจนเกิดความชำนาญ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจ.-211-สำนักข่าวไทย


