สำนักข่าวไทย 17 ส.ค. – สถานการณ์น้ำเพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ โดยที่ จ.หนองคาย น้ำโขงน้ำมูลขยับสูงต่อเนื่อง ขณะที่กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่รวม 4 เขื่อนแล้ว
สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา เช้านี้ น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 1,405 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 18 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำท้ายเขื่อน 1,207 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท สูงขึ้น 31 เซนติเมตร น้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา สูงขึ้น 3 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 4 เมตร 64 เซนติเมตร ส่วนน้ำผันเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ลดการส่งน้ำเข้าคลองจาก 276 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 244 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่เกษตรในช่วงเก็บเกี่ยว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการให้สำนักงานชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ที่มีปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะ 10 เขื่อนตามการแจ้งเตือนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ กิ่วลม และกิ่วคอหมา จ.ลำปาง แควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น น้ำพุง จ.สกลนคร ป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี บางพระ จ.ชลบุรี และหนองปลาไหล จ.ระยอง รวมถึงบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแควน้อยบำรุงแดน รวมถึงประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ. กาญจนบุรี กำชับให้บริหารน้ำโดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรท้ายน้ำให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ แนวโน้มจะมีพายุเข้าในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องเดือนตุลาคมนี้ ที่จะเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบนนั้น ย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและพื้นที่ในลุ่มน้ำต่าง ๆ พร้อมนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าเสริมความสูงและความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ ป้องกันน้ำล้นตลิ่ง หรือคันพังเพราะดินอุ้มน้ำไว้นานแล้วไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้
ส่วนที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำโขงยังปรับตัวสูงขึ้น วัดได้ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ 9.13 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานตอนเช้า 40 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.07 เมตร ส่วนน้ำที่ไหลผ่าน อ.เชียงคาน จ.เลย มีระดับ 11.96 เมตร เพิ่มขึ้น 50 เมตร และสถานการณ์น้ำโขงยังสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะ จากน้ำตอนเหนือที่มีมาก และเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ยังระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ซึ่งส่งผลให้ 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ ชาวบ้านออกจับปลาไม่ได้ เพราะในแม่น้ำโขงมีเศษกิ่งไม้ ขอนไม้ไหลมาด้วย กระแทกจนอวนขาด ต้องหันมายกยออยู่ริมฝั่งโขงแทน ทำให้ได้ปลาลดลงขายได้ราคาน้อยลง
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าตรวจระดับน้ำแม่น้ำมูลเริ่มเอ่อท่วมจุดต่ำสุดของชุมชนวังแดง ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 7 นำกระสอบทรายวางเป็นทางใช้สัญจรในชุมชน พร้อมตั้งเต็นท์ในสวนสาธารณะห้วยม่วง เตรียมพร้อมให้ประชาชนอพยพหนีน้ำ หากแม่น้ำมูลปรับสูงขึ้นอีกใน 1-2 วันนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวด้วยว่า สถานการณ์แม่น้ำมูลที่ไหลผ่านตัวเมือง เนื่องจากมีฝนตกและมีน้ำจากด้านเหนือ ทั้งจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลไหลลงมาสมทบกันในเขตอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ ก่อนไหลสู่แม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำมูล มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละเกือบ 10 เซนติเมตร หากสัปดาห์นี้ ยังมีน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบกับชุมชนลุ่มต่ำสองฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งได้เตรียมเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งที่สะพานแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพราะเขื่อนปากมูลมีการแขวนบานประตูน้ำทั้ง 8 บาน และแม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำกว่าแม่น้ำมูลถึงกว่า 10 เมตร เพื่อลดระดับน้ำที่จะไหลท่วมชุมชนดังกล่าว สำหรับแม่น้ำมูลวันนี้ 5.38 เมตร สูงจากเมื่อวาน 5 เซนติเมตร ห่างจากตลิ่ง 1.62 เมตร
เจ้าหน้าที่ สำนักระบายน้ำ กทม. วัดระดับน้ำ ในคลองประเวศบุรีรีรมย์ เขตประเวศ อยู่ที่ +0.49 สถานะระดับเตือนภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในเขตประเวศ ลาดกระบัง ที่อาศัยริมคลองและอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ จากฝนที่ตกลงมาหนักสะสมในพื้นที่ในช่วง 2-3 วันมานี้ ประกอบกับระดับน้ำในคลองประเวศที่มีระดับสูง ทำให้ส่งผลกระทบกับการระบายออก ทำให้หากมีฝนตกลงมาเพิ่มก็จะเอ่อท่วมถนน และบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงกับคลอง
ทีมข่าวสำรวจในจุดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในซอยอ่อนนุช 80 วันนี้พบว่า ถนนเส้นกลางซอยที่เป็นพื้นที่ต่ำระยะทาง 200-300 เมตร มีน้ำท่วม 10 เซนติเมตร และน้ำที่ท่วมเข้าบ้านหลายหลัง ยังระบายออกไม่หมด และเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็น โดย กทม.เดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำประเวศ ลงคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และผลักดันลงทะเล ที่สมุทรปราการ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วง 19-21 ส.ค.นี้ ที่จะมีฝนตกหนักอีก
ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุมีแนวโน้มพายุเข้าไทยในช่วงเดือน ก.ย.ต่อเนื่องถึง ต.ค.นี้ ทิศทางเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน โดยอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. -สำนักข่าวไทย