เชียงใหม่ 24 มิ.ย. – ดีเอสไอและตำรวจนำหมายศาลจังหวัดเชียงใหม่ บุกตรวจค้นและอายัดโครงการคอนโดมิเนียมหรู ใน อ.หางดง หลังผู้เสียหายร้องอ้างถูกฉ้อโกง ตรวจสอบพบมีผู้เสียหายกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สนธิกำลังกับตำรวจ สภ.หางดง เข้าตรวจค้นสำนักงานขายและบ้านของประธานบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หลังมีหมายศาลของจังหวัดเชียงใหม่ ในการเข้าตรวจค้น จากกรณีมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจภูธร สภ.หางดง ว่าถูกประธานบริษัทคนดังกล่าวหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และผิดสัญญา ทำให้เสียหายมูลค่าจนถึงขณะนี้เกือบ 4,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย ใน 14 โครงการ
พฤติการณ์ผู้เสียหายได้ลงทุนกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมและโรงแรม โดยโครงการยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่จ่ายเงินและทำสัญญาไว้กับทางบริษัท โดยบริษัทจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารมากถึงร้อยละ 8 ต่อมาบริษัทผิดสัญญา เช่น ส่งมอบล่าช้า หลายโครงการยังสร้างไม่เสร็จตามสัญญา บางโครงการมีเพียงเสาเอกเท่านั้น ผู้เสียหายพยายามไกล่เกลี่ยกับบริษัท แต่ยังไม่มีการตอบรับ จึงรวมตัวกันไปร้องดีเอสไอเพื่อให้เป็นคดีพิเศษ จนนำมาซึ่งการตรวจค้นในวันนี้ การตรวจค้นครั้งนี้ไม่พบตัวประธานบริษัท พบเพียงหุ้นส่วนและญาติ ที่อยู่ภายในบ้าน เจ้าหน้าที่จึงอายัดทรัพย์สินที่คาดว่าจะได้มาจากการกระทำผิด
กรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งนี้ชี้แจงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย ยืนยันว่าไม่ได้ฉ้อโกง ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลผ่านทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอตลอด
ด้านนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงค์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง และมีรอที่จะมาให้ถ้อยคำอีกจำนวนมาก จากการสืบสวนพบว่ามีลักษณะบางอย่างที่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน จึงตั้งเรื่องสืบสวนตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้ข้อมูลพอสมควร ซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาที่บริษัทให้ไว้กับผู้ลงทุน ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 2,000 กว่าราย โดยกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมาร้องต่อดีเอสไอ เรื่องการฉ้อโกง เพราะในช่วงแรกยังให้ผลตอบแทนดี กระทั่งปี 2563 เริ่มไม่ให้ผลตอบแทนตามสัญญา จึงมองว่าถูกหลอกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัทระบุว่าพยายามทำให้ได้ตามสัญญา แต่ช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถก่อสร้างได้ ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน มูลค่าความเสียหายที่ผู้ร้อง ร้องมาทั้งหมดประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท เบื้องต้นได้อายัดทรัพย์ไว้ก่อน หากพิสูจน์ชัดเจนว่าเข้าข่ายฉ้อโกงจะนำทรัพย์มาเกลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย ส่วนทรัพย์ที่อายัดไว้ 14 โครงการ ประกอบด้วย ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บ้าน และรถยนต์เก๋ง และจะตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียดด้วย.-สำนักข่าวไทย