บุรีรัมย์ 6 มิ.ย. – ผู้ปกครองเด็กชายวัย 12 ปี คาใจ หลังพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีคนไข้พิเศษ ทำให้ลูกชายรอคิวนาน สุดท้ายไส้ติ่งแตกเสียชีวิต ด้าน รพ.แถลงยอมรับการรักษาล่าช้า ยืนยันไม่มีคนไข้พิเศษลัดคิว ส่วนผู้ปกครองคาใจการรักษา สามารถยื่นขอรับการเยียวยาตามสิทธิ
นายสมบูรณ์ อายุ 42 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ร้องขอความเป็นธรรม หลังจากลูกชาย อายุ 12 ปี เสียชีวิตจากอาการไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ขณะถูกส่งตัวไปผ่าตัดเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์
นายสมบูรณ์ ผู้เป็นพ่อ เล่าว่า ช่วงบ่ายวันที่ 29 พ.ค. ลูกชายมีอาการปวดท้องจึงพาไปโรงพยาบาลประจำอำเภอ เมื่อหมอตรวจดูอาการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่ง จึงส่งตัวลูกชายไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด กระทั่งเวลาประมาณเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่เวรเปลเข็นลูกชายเข้าไปในห้องผ่าตัด โดยตนเองนั่งรออยู่ด้านนอก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเข็นลูกชายออกมาก็รู้สึกแปลกใจ จึงเข้าไปสอบถามว่าทำไมเข็นลูกชายออกมา ยังไม่ได้ผ่าตัดเลย ได้รับคำตอบว่าหมอมีคนไข้พิเศษ 2 คน จะผ่าตัดคนไข้พิเศษก่อน และนำลูกชายกลับมารอ จนคืนวันที่ 31 พ.ค. ลูกชายเสียชีวิต หมอระบุว่าไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ทำให้ตนเองคาใจว่าลูกชายส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลถึง 2 วัน หมอกลับไม่เร่งผ่าตัดให้จนทำให้ต้องเสียชีวิต จึงอยากให้ทางโรงพยาบาลออกมาชี้แจงและรับผิดชอบกับกรณีที่เกิดขึ้น
ล่าสุดรอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลดังกล่าว เป็นผู้แทนแถลงข่าว ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเด็กชายวัย 12 ปี มีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ หมอระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้วส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์ตรวจประเมินซ้ำวินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบเช่นเดียวกัน โดยเซตเวลาผ่าตัดไว้ที่ 17.00 น. วันที่ 29 พ.ค.
ต่อมาพบว่าอาการน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง 163 ซม. น้ำหนัก 83 กก. อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด 23.30 น. แต่ขณะนั้นห้องผ่าตัดซึ่งมี 3 ห้อง ที่มีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ทั้ง 3 ห้อง ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองติดใจว่า “มีเคสพิเศษ” แทรกคิวหรือไม่ จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสพิเศษใดๆ ในโรงพยาบาล ทุกเคสมีหลักฐานประกอบ และเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้านี้
ต่อมาแพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัดพบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น. ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งเข้ารักษาที่ห้องไอซียู และหัวใจน้องหยุดเต้นเมื่อเวลา 02.25 น. ของวันที่ 31 พ.ค. โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ยอมรับว่ารักษาล่าช้า ส่วนการเยียวยาจะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึกว่าสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข ได้มากน้อยแค่ไหน.-สำนักข่าวไทย