ลำปาง 12 เม.ย.- กิจกรรมต้อนรับวันสงกรานต์ที่จังหวัดลำปาง ที่นี่จัดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง” โดยไฮไลต์ในงานมีการประกวดเทพบุตรเทพธิดา มีเกณฑ์ตัดสินที่ไม่เหมือนใคร เพราะคนชนะไม่ใช่แค่ได้คะแนนมากสุด แต่ใช้การเสี่ยงทายจากก้านใบมะยมด้วย
ภาพบรรยากาศงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมืองลำปาง ที่จัดขึ้นเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา หลังหยุดไป 2 ปี เพราะโควิด-19 ในงานมีการเฟ้นหาเทพบุตรสลุงหลวง เพื่อนั่งบนรถบุษบก อัญเชิญพระแก้วมรกตดอนเต้า และถือกระบวยเงินอารักขาสลุงเงินที่บรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 13 อำเภอให้ประชาชนนำสรงน้ำพระ รวมถึงเฟ้นหาเทพธิดาสลุงหลวง เพื่อนั่งบนรถสงกรานต์ในวันพรุ่งนี้
การจัดงานปีนี้ได้รับความสนใจจากหนุ่มสาว 17 จังหวัดในภาคเหนือเข้าประกวดเกือบ 80 คน ซึ่งการจัดประกวดเทพบุตรและเทพธิดาสลุงหลวง เป็นการสืบสานประเพณีที่ที่มีมาตั้งแต่ปี 2534 และถือว่าแปลกและไม่เหมือนใคร เพราะการคัดเลือกผู้ชนะเลิศ คณะกรรมการนอกจากจะเป็นผู้ให้คะแนนผู้ที่เข้ารอบแล้ว การตัดสินรอบ 3 คนสุดท้าย จะใช้วิธีเสี่ยงทายตัวเลขจากการจับก้านมะยม โดยมีขั้นตอนคือเจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารอบล้างมือในขันน้ำมนต์ ก่อนเลือกจับก้านใบมะยมที่จะมีเลขคู่และคี่ติดไว้ ให้แต่ละคนจับคนละ 3 ก้าน เมื่อได้ครบ 3 ก้าน ก็มาเปิดดูเลขกัน หากใครได้เลขคู่เท่ากับมี 1 คะแนน หากได้เลขคี่ เท่ากับไม่ได้คะแนน ซึ่งในช่วงที่ลุ้นว่าใครจะได้เลขคู่หรือคี่ หลายคนถึงกับยกมือไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเลยทีเดียว
ผลปรากฏว่าเทพบุตรสลุงหลวงและเทพธิดาสลุงหลวง ในปีนี้คือ หมายเลข 25 นายธีรศักดิ์ แก้วยอดดี หรือ มาร์ค ส่วนเทพธิดาสลุงหลวง คือหมายเลข 9 นางสาวชินณัชฌาญ์ ประยูรศิริ หรือ สิริ ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ทั้งคู่ สำหรับงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมืองนครลำปาง จะมีไปถึงวันที่ 16 เมษายนนี้
ส่วนที่ลานโพธิ์พระอุโบสถวัดกลางพระอารามหลวง อ.เมืองบุรีรัมย์ ภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชน ต่างช่วยกันนำทรายกองใหญ่เตรียมพร้อมงานสืบสานประเพณีก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำหลวงพ่อโต และรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ ที่เริ่มวันนี้เป็นวันแรก ยาวไปถึงวันที่ 15 เมษายนการขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์ทราย เกิดจากความเชื่อว่าคนที่มาทำบุญ หากเดินออกจากวัดอาจเอาทรายติดเท้าไปด้วย เมื่อถึงวันเนาก่อนสงกรานต์ ชาวพุทธก็จะพากันนำทรายไปคืนให้วัด เพื่อเป็นการตอบแทน ส่วนการก่อเจดีย์ทรายเชื่อว่าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ นอกจากนี้ ทรายที่เหลือจากการก่อเจดีย์ทราย วัดจะนำไปใช้ในงานก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมถาวรวัตถุ และอาคารสถานที่ต่างๆ ภายในวัดด้วย.-สำนักข่าวไทย