ลำพูน 21 ม.ค.- “อนุทิน” ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ตรวจเยี่ยมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 4 เสา เราไม่ทิ้งกัน โดยกรมสุขภาพจิต ยกระดับการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ตรวจเยี่ยมและรับฟังยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน โครงการ 4 เสา เราไม่ทิ้งกัน โดยกรมสุขภาพจิต จัดขึ้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนและสาธารณสุขจังหวัดลำพูนให้การต้อนรับ
สำหรับโครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในพื้นที่ โดยจังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นระดับต้นๆของประเทศ จากรายงานข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติปี 2564 และมีจำนวนผู้ตายสำเร็จเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ5หรือเท่ากับ 92 คน โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตและเป็นผู้ชายในวัยทำงานอายุระหว่าง 25 ถึง 59 ปี ที่ใช้วิธีการผูกคอเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือกินยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืช
สำหรับปัจจัยการทำร้ายตนเองยังคงเป็นปัญหามาจากความสัมพันธ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสาเหตุของคนไทยทั่วประเทศ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นคือการใช้สุราหรือมีอาการมึนเมาในขณะทำร้ายตนเอง
จังหวัดลำพูนได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนตามแนวคิดหนึ่งชีวิตมีคุณค่าต้องใช้หลายชีวิตช่วยดูแลเพื่อให้คนลำพูนมีคุณภาพชีวิตสุขภาพกายสุขภาพใจเข้มแข็ง แม้ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ได้ร่วมกันยกระดับป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจังหวัดลำพูนภายใต้ชื่อ4Pillars 4 เสา เราไม่ทิ้งกัน ที่ประกอบไปด้วย 4 เสา
เสาที่ 1 คือ ระบบข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ
เสาที่2 คือระบบดักจับ จัดกิจกรรมเฝ้าระวังให้รู้สัญญาณเตือน
เสาที่3 คือ ระบบป้องกันและบำบัด จัดกิจกรรมสร้างการช่วยเหลือส่งต่อรักษาร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งสาธารณสุขท้องถิ่นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป้าหมายเพื่อลดการฆ่าตัวตายในชุมชน
เสาที่4 คือระบบบริหารจัดการ ผ่านกลไกคณะกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดลำพูน และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นต้น
โดยแนวคิดดังกล่าวจะช่วยสร้างกลไกดำเนินการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันมาตรการป้องกันการทำร้ายตนเองผ่านกรมสุขภาพจิตระดับจังหวัด เพื่อความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งนี้โครงการ 4 เสา เราไม่ทิ้งกัน ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการป้องกันปัญหาการทำร้ายตนเองในพื้นที่อื่นๆได้ด้วย .-สำนักข่าวไทย