สิงห์บุรี 12 ม.ค.- ผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่งในสิงห์บุรี เผยหมูตายเฉียบพลันยกฟาร์มตั้งแต่เดือน ส.ค.64 ซึ่งตอนนั้นกรมปศุสัตว์ยังไม่ประกาศพบโรค แต่ล่าสุด ขุดซากหมูในฟาร์มส่งเนื้อเยื่อตรวจ ผลเป็นบวก แสดงว่าโรคนี้ระบาดในไทยนานแล้ว ลั่นอธิบดีกรมปศุสัตว์ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
นายพัฒนพงศ์ การุณยศิริ ผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดสิงห์บุรี บอกว่า เลี้ยงหมูมานานกว่า 30 ปี โดยมีแม่พันธุ์ 2,000 ตัว และหมูขุน 20,000 ตัว ซึ่งตายเฉียบพลันตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 64 โดยที่หมูเริ่มแสดงอาการป่วยและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นรีบขนย้ายหมูออกขายในราคาถูกมาก ทำให้ขาดทุน และมาถึงตอนนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ออกมายอมรับว่า พบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF เพียง 1 ตัวอย่าง แต่ด้วยความข้องใจว่า หมูในฟาร์มที่ป่วยตายด้วยโรคนี้หรือไม่ จึงได้ขุดซากหมูที่ฝังในฟาร์มส่งตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ผลปรากฏว่า ไขกระดูก น้ำในกระดูก และชิ้นเนื้อรวม 3 ตัวอย่างที่ส่งตรวจ พบเชื้อ ASF จึงมั่นใจว่า หมูของเกษตรกรที่ตายไปตั้งแต่ 3 ปีกว่ามาแล้ว รวม 50% ของหมูทั้งประเทศ เป็นเพราะเกิดการระบาดของโรคนี้ แต่กรมปศุสัตว์ปิดบังผู้เลี้ยงจึงไม่ทราบ อีกทั้งไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้เลี้ยงและเป็นผลให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ โดยเรียกร้องให้ลาออก.-สำนักข่าวไทย