กรุงเทพฯ 30 ธ.ค.- ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตลาดสดห้วยขวาง เพื่อตามสถานการณ์ราคาเนื้อหมูในขณะนี้ ผู้ค้าเขียงหมูในตลาดสดห้วยขวางระบุว่า ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นต่อเนื่อง จาก 2-3 เดือนที่แล้ว ราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม พอมาช่วงนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับขึ้นเป็น 100-102 บาทต่อกิโลกรัม
ถือว่าสูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาที่ขยับขึ้นครั้งละ 8 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าช่วงล่าสุดทำไมถึงขยับขึ้นทันที 20 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้พ่อค้าและแม่ค้าเขียงหมูทั่วประเทศอย่างมาก จนทำให้ผู้ค้าหลายรายปิดกิจการไปแล้วเช่นกัน อยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและผู้ใหญ่เร่งลงมาแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงขึ้น โดยจะทำอย่างไรให้ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงกว่านี้ เพราะเวลาขายหมูให้กับประชาชนจะถูกตำหนิว่าหมูแพงมาก ทั้งที่ความจริงหากราคาหมูหน้าฟาร์มไม่สูงขึ้นราคาหมูเขียงจะไม่แพงขึ้นอย่างแน่นอน
ประชาชนและร้านอาหารตามสั่ง ที่ตลาดสดห้วยขวางระบุว่า ราคาหมูแพงขึ้นมาต่อเนื่อง แม้จะหันไปซื้อเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อไก่ ก็ทำให้ตอนนี้เนื้อไก่แพงขยับขึ้นอีก หากดูราคาเนื้อสุกรชำแหละวันนี้ หมูสันนอกอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม สะโพกหมูอยู่ที่ 180 บาทต่อกิโลกรัม หมูสามชั้น 240 บาทต่อกิโลกรัม ซี่โครงหมู 160 บาทต่อกิโลกรัม
เช่นเดียวกับร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” ที่มีสาขากว่า 30 สาขา ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ทำให้ฝ่ายบริหารบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ประกาศปรับราคาบุฟเฟ่ต์ต่อหัวขึ้นจาก 199 บาทเป็น 219 บาทที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งการขึ้นราคาครั้งนี้ระบุว่า เท่าที่สอบถามลูกค้าส่วนใหญ่ต่างรับได้ไม่แพงจนเกินไป
กรมปศุสัตว์ เตรียมหารือ กรมการค้าภายในแก้ปัญหาหมูแพง
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งขณะนี้ระบาด ในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ แต่ยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอยู่ ปัจจัยนี้ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นเนื่องจากผู้เลี้ยงรายย่อยไม่นำสุกรมาลงเลี้ยง เพราะไม่มีระบบควบคุมโรคจึงเกรงว่าหากเกิดโรคจะเสียหายหนัก โดย พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 กำหนดให้ฟาร์มสุกร ต้องควบคุมโรค ปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงเกิดโรคระบาด รวมทั้งยังต้องพักคอกสัตว์ก่อนทำเลี้ยงรุ่นใหม่ นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังปรับสูงขึ้นด้วย เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งกรมปศุสัตว์จะหารือกับกรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อเร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย