ภูมิภาค 9 พ.ย. – รถตู้ลักลอบขน 16 แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา แหกโค้งตกลงข้างถนน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่วน จ.สระแก้ว ตำรวจสนธิกำลังร่วมฝ่ายปกครอง สกัดจับแรงงานชาวกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 34 คน
ตำรวจภูธรเกาะช้าง จ.เชียงราย เร่งช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถตู้หมายเลขทะเบียน นง1839 เชียงใหม่ แหกโค้งตกลงข้างถนน ที่หมู่บ้านสันนา หมู่ 2 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย แต่คนขับรถกลับหลบหนี จากการตรวจสอบพบว่าผู้โดยสารที่มาในรถทั้งหมด 16 คน เป็นแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา แบ่งเป็นชาย 11 คน หญิง 5 คน จากนั้นได้ควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมดไปคัดกรองโควิด-19 เบื้องต้น และพบว่าทุกคนไม่มีใครติดเชื้อ
จากการสอบสวนทราบว่าทั้งหมดลักลอบข้ามลำน้ำสายเข้ามาบริเวณท่าข้ามบ้านเวียงหอม อ.แม่สาย โดยจ่ายค่าหัวคิวเดินทางเข้าไทยให้กับขบวนการที่ลักลอบพาแรงงานเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาทำงาน คนละ 22,000-25,000 บาท เมื่อข้ามมาฝั่งไทยจะมีรถมารับ แต่ปรากฏคนขับเกรงจะถูกเจ้าหน้าที่สกัดจับ จึงขับรถด้วยความเร็ว ประกอบกับไม่ชำนาญเส้นทาง รถจึงแหกโค้ง
ทั้งนี้ ตำรวจคุมตัวทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี และขยายผลผู้ร่วมขบวนการขนแรงงานข้ามชาติ ส่วนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง ส่วนคนขับรถล่าสุดติดตามจับกุมตัวได้แล้ว
จับแรงงานกัมพูชาลักลอบเข้าไทย 34 คน กระจายทำงานทุกจังหวัด
ส่วนที่ จ.สระแก้ว ตำรวจภูธรสระแก้ว สนธิกำลังร่วมฝ่ายปกครอง เข้าสกัดจับแรงงานชาวกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 34 คน เป็นชาย 18 คน หญิง 16 คน ได้ที่บ้านทับพริก ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยข้ามแดนผ่านคลองน้ำใส (ชายแดนไทย-กัมพูชา) เพื่อมารอขึ้นรถของขบวนการลักลอบเข้าเมือง แต่ถูกจับกุมได้เสียก่อน
จากการสอบสวนพบว่าแรงงานทั้งหมดมาจาก จ.บันเตียเมียนเจย ไม่มีใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ และใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย แต่จะกระจายไปทำงานก่อสร้าง ใน จ.สมุทรปราการ โรงงานไก่ ใน จ.สระบุรี และรับจ้างส่งของที่ จ.ชลบุรี รวมถึงไปทำประมงที่ จ.ระยอง
สำหรับพฤติกรรมการนัดหมายเข้าไทยนั้นได้ติดต่อผ่านหน้านายชาวกัมพูชาทางโทรศัพท์ นัดหมายที่ ต.บังเบง อ.มาลัย จ.บันเตียเมียนเจย และจ่ายค่านำทาง เพื่อมาทำงานในไทย คนละ 2,000-7,000 บาท และจากการตรวจคัดกรองโควิดเบื้องต้น พบทุกคนปกติดี เตรียมส่งตัวแรงงานดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จับแรงงานเมียนมาเดินเท้าเข้าไทยได้อีก 103 คน
ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุดเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ เข้าจับกุมแรงงานเมียนมาลักลอบเข้าไทย 103 คน เป็นหญิง 45 คน ชาย 58 คน ขณะกำลังเดินเท้าเข้ามาในช่องทางธรรมชาติที่หมู่ 9 บ้านมะขามโพรง ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยทั้งหมดเตรียมผลักดันกลับประเทศ เนื่องจากสถานที่กักกันตัวแรงงานเถื่อน 14 วัน ไม่สามารถรองรับแรงงานได้ เนื่องจากจำนวนแรงงานลักลอบเข้ามามากเกินที่จะรองรับได้
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม โรงงานสับปะรดกระป๋องหลายแห่งใน จ.ประจบคีรีขันธ์ ระบุตรงกันกังวลหลังเปิดประเทศแล้ว เนื่องจากไม่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในระบบ ทำให้ต้องลดกำลังการผลิต ทั้งที่ตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ผ่อนปรนนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติโดยด่วน ภายในเดือนธันวาคม 2564 ก่อนที่ธุรกิจการส่งออกสับปะรดกระป๋องจะเจอวิกฤติ มีผลกระทบกับชาวไร่ ทำให้ราคาผลิตตกต่ำ
ก.แรงงาน ขานรับผ่อนแรงงาน 3 สัญชาติ
ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการปัญหาแรงงานขาดแคลนระหว่างช่วงแรกของการเปิดประเทศว่า ได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อกำหนดแนวทางในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน ให้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กกลั่นกรอง คาดสรุปรายละเอียดได้วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นให้อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้อนุมัติให้สถานประกอบการสามารถทำ MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศต้นทาง 3 ประเทศ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ตามความจำเป็น โดยนายจ้างจะต้องออกค่าใช้จ่ายระหว่างการกักตัว มีการตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง ก่อนเข้าทำงาน และ หากแรงงานคนใดยังไม่ได้รับวัคซีนต้องมีการฉีดวัคซีน นอกจากนี้นายจ้างยังต้องทำประกันภัยโควิด-19 ให้แรงงานระหว่างรอสิทธิการรักษา จากสำนักงานประกันสังคมครบ 3 เดือน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีนายจ้างทำ MOU เพื่อนำเข้าแรงงานถึง 200,000 คน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ผลักดันให้มีการฉีดแก่แรงงานต่างด้าวในประเทศไปแล้ว 400,000 โดส และเตรียมไว้รองรับแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าผ่าน MOU อีก 500,000 โดส
ส่วนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในประเทศแต่เดิมนั้นเป็นการนำแรงงานผิดกฎหมายที่ตกค้างอยู่มาเข้าระบบ เพื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาด และให้มีสิทธิการรักษาตามสิทธิประกันสังคม ไม่เกิดผลกระทบกับเงินภาษีกองกลาง ซึ่งจากการหารือกับฝ่ายความมั่นคงแล้วเชื่อมั่นว่าจะสามารถสกัดกั้นการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายที่พยายามเข้าประเทศในช่วงนี้ได้อย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์ของแรงงานไทยในปีนี้ดีขึ้นจากปี 2563 เพราะสำรวจสถิติการเข้าออกระบบการจ้างงานแล้ว มีแรงงานไทยตกงาน 200,000 คน ส่วนหนึ่งมีงานในภาคการเกษตรรองรับ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมด้านการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตรถยนต์ สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง และผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ มียอดสั่งผลิตเพิ่มขึ้น เพราะฐานการผลิตอื่นในต่างประเทศต้องหยุดพักจากการแพร่ระบาด แต่ไทยสามารถใช้ระบบ FI หรือ factory isolation มาประคองสถานการณ์ไว้.-สำนักข่าวไทย