ภูมิภาค 14 ต.ค.- แม้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง แต่หลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากน้ำที่ท่วมขัง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำเน่าที่ท่วมขังตามบ้านเรือน และพื้นที่รเกษตร ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชผัก และสวนผลไม้ กว่า 24,000 ไร่ ใน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยน้ำที่ท่วมขังตามบ้านเรือนใช้วิธีสูบน้ำข้ามถนน ระบายลงคลองชลประทาน ส่วนน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรใช้วิธีสูบน้ำระบายผ่านประตูระบายน้ำบางเสวย และประตูระบายน้ำบางสารวัตรลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณมาก ทำให้น้ำที่ระบายออกจากพื้นที่การเกษตรลดลงอย่างช้าๆ ชาวบ้านอีกกว่า 4,300 ครัวเรือน ยังเดือดร้อน ชาวนา อ.สรรพยา ต่างหมดหวังที่จะกู้คืนนาข้าวจากน้ำที่ท่วมขังนาน 2 สัปดาห์ เงินที่ลงทุนปลูกข้าวไปคนละหลายหมื่นบาทได้จมหายไปกับน้ำ ตอนนี้ได้แต่รอให้น้ำแห้งเพื่อปลูกรอบใหม่ แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่
ชาวบ้านเป็นโรคน้ำกัดเท้า หลังน้ำท่วมนานนับเดือน
ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.บ้านเกาะ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากถูกน้ำท่วมเป็นเดือน แม้วันนี้น้ำจะลดลงแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขังในหมู่บ้าน และถนนเข้าหมู่บ้าน และบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำลพบุรี และน้ำเริ่มเน่าเสีย ชาวบ้านบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้ ขึ้นและลงเร็ว ตอนนี้ลำบากมาก ใช้เรือไม่ได้ ต้องเดินลุยน้ำ และเป็นโรคน้ำกัดเท้ากันหลายคนแล้ว อยากได้ยาแก้น้ำกัดเท้าและถุงยังชีพ เนื่องจากออกไปตลาดไม่ได้ และไม่มีรถขายกับข้าวเข้ามาขาย คาดต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือน
เกิดดินสไลด์ริมตลิ่งแม่น้ำป่าสัก บ้าน-กุฏิพระพังเสียหาย
ที่ จ.สระบุรี เกิดดินสไลด์ ตามแนวตลิ่งแม่น้ำป่าสัก หลายพื้นที่ จุดแรกที่พื้นที่ ม.1 ต.นาโฉง อ.เมือง ได้เกิดดินสไลด์ จนบ้านทรุดตัวพังลงมา ซึ่งเป็นบ้านของนาง สมคิด เรือนไทสง และลูกชายที่ปลูกติดกัน ใกล้กัน เจ้าของบ้าน ร้องเป็นเพราะชลประทานปล่อยน้ำเร็วเกินไป จนทำให้เกิดดินสไลด์ เนื่องจากตอนเช้าเห็นว่าน้ำยังไม่ลงเต็มที่ ต่อมาไม่นานน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็วเป็นเมตร เนื่องจากดินอุ้มน้ำจึงเกิดการทรุดตัวของดิน ขณะที่บริเวณแนวตลิ่งของวัดหงส์ดาราวาส ก็เกิดแนวตลิ่งพังทรุดตัวลงมา ทำใต้ยางนาอายุกว่า 100 ปี ล้มโค่นลงมา 2 ต้น สิ่งปลูกสร้างภายในวัดแนวริมตลิ่งได้รับความเสียหาย ส่วนดินที่อยู่บริเวณรอบๆ ก็มีท่าทีที่จะสไลด์อยู่ตลอดเวลา
ส่วนที่วัดบ้านกอก ต.บ้านแก้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ กุฏิพระที่ปลูกอยู่แนวริมตลิ่ง ก็ได้ทรุดตัวลงมา จำนวน 5 หลัง รวมไปถึงกุฏิเจ้าอาวาสด้วย พังถล่มลงมาด้วย ส่งผลให้พระต้องหนีตายจ้าละหวั่น หนึ่งในนั้นมีพระสงฆ์ที่อาพาธอยู่ 1 รูป ได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก มีแผลถลอกตามร่างกาย เจ้าหน้าที่เร่งนำส่ง รพ.สระบุรี ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจความเสียหาย เพิ่มเติม ส่วนชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลพระสงฆ์
น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย
จ.จันทบุรี พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่โดยรอบในเขตเทศบาลจันทบุรี ระดับน้ำเริ่มลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนเริ่มเข้าเก็บข้าวของ ทำความสะอาด บ้านเรือน ร้านค้า และฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ส่วนบริเวณชุมชนย่อยเนิน FM ติดกับโรงฆ่าสัตว์ มีประชาชนราว 300 หลังคาเรือน ยังมีน้ำท่วมถนนและภายในชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตลอดจนสถานที่หน่วยงานราชการ ยังมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30 ซม. ภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่าทุกพื้นที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ที่สะพานวัดจันทนาราม อำเภอเมือง ยังทรงตัว โดยวัดระดับน้ำอยู่ที่ 3.10 เมตร ต่ำกว่าจุดวิกฤติ 0.35 เมตร และมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนธงสัญลักษณ์เป็นสีแดง ขณะที่ประชาชนที่อาศัยย่านชุมชนริมน้ำจันทบูร ริมแม่น้ำจันทบุรี ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อคืนมีการแจ้งเตือนให้อพยพภายใน 2 ชั่วโมง แต่หลายคนยังไม่อพยพ
ลำน้ำชีเริ่มทรงตัว เร่งผลักดันน้ำออก
ต่อกันที่ภาคอีสาน จ.มหาสารคาม น้ำชีที่ไหลมาจากอำเภอโกสุมพิสัย มาถึง อ.กันทรวิชัย แล้ว โดยที่บ้านกุดหัวช้าง ตำบลขามเรียง น้ำท่วมสูงขึ้นต่อเนื่อง ชาวบ้านและฝ่ายปกครองช่วยกันทำแนวกระสอบทรายไว้ริมถนน แต่มวลน้ำชีไหลมาแรงและบ่าข้ามท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เอ่อท่วมล้อมรอบหมู่บ้านเป็นเกาะไปแล้ว ต้องอพยพวัว กว่า 50 ตัว ขึ้นมาเลี้ยงไว้บนที่สูง ด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้านสัตว์เลี้ยงกำลังขาดแคลนอาหาร เพราะหญ้าที่ปลูกถูกน้ำท่วม และถนนตัดขาดเส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน แม้ปศุสัตว์จะนำมาหญ้ามามอบให้ก็ไม่เพียงพอ ด้านสำนักงานชลประทานเขต 6 ขอนแก่น ได้ติดตั้งเครื่องผนักดันน้ำที่หน้าเขื่อนวังยางเพิ่มเป็น 72 ตัว จากที่ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้ 16 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
“คมปาซุ” เริ่มส่งผลกระทบแล้ว
อิทธิพลพายุ “คมปาซุ” ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนัก ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บนถนนวารีราชเดช ซึ่งเป็นถนนสายหลัก ใจกลางอำเภอกุดชุม จ.ยโสธร น้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร ระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ทำให้การสัญจรของรถทุกชนิด ระหว่างตัวอำเภอกุดชุม ไปยังอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร สัญจรไปมาลำบาก เทศบาลอำเภอกุดชุม ต้องระดม เร่งสูบน้ำออกจากผิวถนนเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การสัญจรกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว
ขณะที่บ้านเรือนริมถนนตั้งแต่หน้าร้านลำโขงหมูกระทะถึงหน้าร้านศรีสมบัติการเกษตร ต้องเจอกับคลื่นน้ำ ยามรถวิ่งผ่าน เหมือนกับคลื่นทะเล ขนาดใหญ่ กระแสน้ำไหลทะลักเข้าบ้านเรือนและห้างฯร้าน เดือดร้อนกันทั่วหน้า.-สำนักข่าวไทย