ภูมิภาค 28 ก.ย. – คันดินกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.อ่างทอง พังต่อเนื่อง น้ำไหลบ่าท่วมอย่างรวดเร็วสูงกว่า 2 เมตร กู้ภัยเร่งนำเรืออพยพผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ในบ้านริมแม่น้ำออกมาด้านนอก
นี่เป็นภาพความเสียหายที่ขยายวงกว้าง หลังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,631 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา ส่วนแนวกระสอบทรายที่ชาวบ้านทำกั้นน้ำไว้บริเวณหมู่ 4 และหมู่ 5 มีน้ำล้นและน้ำหลุดลอดกระสอบทรายหลายจุด เป็นเหตุให้กระสอบทรายพังลงมา และน้ำทะลักท่วมพื้นที่ชั้นใน บางจุดน้ำท่วม 20-30 เซนติเมตร และบางจุดที่เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมสูง 50-80 เซนติเมตร บ้านเกือบ 400 หลัง ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านต้องรีบนำรถยนต์ รถการเกษตร และสัตว์เลี้ยง หนีน้ำท่วม รวมถึงนำเรือที่เก็บไว้ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 60 ออกมาซ่อมแซมนำไปใช้งาน โดยชาวบ้านบางคนบอกขอทนอยู่ชั้น 2 ของบ้าน ไม่ออกไปอาศัยนอนอยู่บนถนนคลองมหาราช
น้ำทะลัก รพ.สต. โชคดีขนของหนีทัน
นอกจากบ้านเรือนประชาชน น้ำยังทะลักเข้าท่วมวัดหลายแห่ง รวมถึง รพ.สต.โพนางดำออก แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ทยอยขนย้ายสิ่งของและอุปกรณ์การแพทย์ออกมาก่อนหน้า ส่วนตอนนี้วางแนวทางไว้ 2 แบบในการช่วยเหลือประชาชน
คันดินกั้นน้ำเจ้าพระยาพังต่อเนื่อง-เร่งย้ายผู้ป่วยติดเตียง
กู้ภัยอ่างทอง เร่งนำเรืออพยพผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ในบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 1 ต.โพสะ อ.เมือง ออกมาด้านนอก หลังน้ำไหลบ่าท่วมบ้านเรือนเป็นวงกว้าง เหตุเพราะคันดินกั้นน้ำริมแม่น้ำพังต่อเนื่อง น้ำจึงไหลบ่าท่วมอย่างรวดเร็ว เพียง 20 นาที น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการเร่งช่วยชาวบ้านเป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะนอกจากน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังไหลแรง ส่วนชาวบ้านบอกว่าน้ำมาเร็วมาก คันดินป้องกันน้ำท่วมเดิมที่ถูกผู้รับเหมาทำเขื่อนขุดออกไป ต้านแรงน้ำไม่ไหวและทรุดตัว ไม่กี่นาทีน้ำสูงกว่าเมตรครึ่ง
เร่งอุดผนังคอนกรีตกั้นน้ำป่าโมก หลังน้ำทะลุนับสิบจุด
ด้านเทศบาลตำบลป่าโมก เร่งใช้กระสอบทรายทำเป็นบิ๊กแบ็กกั้นอุดรอยรั่วของผนังคอนกรีตกั้นน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอป่าโมกหลังเก่า หลังน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร และทะลุผนัง รวมถึงพื้นด้านล่างพื้นเขื่อนเรียงหินนับสิบจุด ทำให้น้ำไหลบ่าท่วมอาคารที่ว่าการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอป่าโมกที่อยู่ตรงข้าม รวมถึงบ้านเรือนกว่า 400 หลัง ซึ่งชาวบ้านหลายคนกังวลมากว่าน้ำจะท่วมซ้ำรอยปี 54 ต่างมาเฝ้าสังเกตการณ์ และช่วยกันกรอกกระสอบทรายด้วย
วัด โรงเรียน ชุมชน ถูกน้ำท่วมอ่วม
ส่วนอยุธยา ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ โดยแม่น้ำน้อย และคลองต่างๆ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำคลองบางบาล จุดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำไหลแรง และทะลักเข้าท่วมทั้งบ้านคน วัด โรงเรียน และถนน เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันทำแนวป้องกันน้ำท่วมมากไปกว่านี้ ส่วนการระบายน้ำเข้าในส่วนของทุ่งผักไห่-บางบาล ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ยังไม่มี แต่จากการสำรวจพบว่าทั้งน้ำทุ่ง-น้ำท่า มีขังในทุ่งเยอะมาก ซึ่ง ผอ.โครงการชลประทานอยุธยา บอกว่าในทุ่งนาส่วนใหญ่จะเป็นน้ำฝน ต้องตามต่อว่าชลประทานจะผันน้ำเข้าหรือไม่
นครรังสิตเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมบ้านริมคลอง
ที่ปทุมธานี คนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานปทุมธานี 2 ต.บางกะดี อ.เมือง ต่างเป็นกังวล แต่นายกเทศมนตรีนครรังสิตบอกยังไม่น่าห่วง ตอนนี้สั่งทีมงานสำรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังการระบายของชลประทานในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง รวมถึงตั้งทีมช่วยเหลือประชาชน 24 ชั่วโมง และกำหนดสีธงเฝ้าระวัง เพื่อเตือนประชาชนเตรียมพร้อม หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ย้ำว่าปริมาณน้ำในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต เกณฑ์การเฝ้าระวังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังอยู่ในการควบคุมได้ และยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้.-สำนักข่าวไทย