สุรินทร์ 16 ก.ย.- มาดูภูมิปัญญาท้องถิ่น อุปกรณ์จับปลาหน้าฝายน้ำล้น โดยคนไม่ต้องเปียกน้ำและเสี่ยงอันตราย แถมได้ปลาคนละ 5-20 กก.ต่อวัน
ที่ฝายบ้านใหม่ ต.ตระแสง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ของโครงการชลประทานสุรินทร์ ซึ่งเป็นฝายขนาดใหญ่กั้นน้ำที่ไหลมาจากลำห้วยฝายทุ่งมน ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำชี ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งจากอำเภอกระสัง จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ต่างพากันนำอุปกรณ์หาปลา ซึ่งเป็นอุปกรณ์แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่คิดกันขึ้นมาเอง โดยใช้เหล็กเส้นมาดัดงอเป็นรูปสี่เหลี่ยม ความยาวประมาณ 150 ซม. กว้าง 50 ซม. ก่อนนำผ้าแยงหรือตาข่ายเขียวตาถี่ มาเย็บเข้ากับโครงเหล็กหรือท่อพีวีซี และทำช่องดักไม่ให้ปลากระโดดออกได้ไว้ ผูกเชือกสองข้างหย่อนลงไปตรงบริเวณหน้าฝายน้ำล้น ด้านบนผุกติดกับราวเหล็กของฝายน้ำล้น เมื่อปลากระโดดขึ้นจากฝายน้ำล้นก็จะตกลงมาที่ช่องดักปลา พอได้ปลามากก็จะยกปลาขึ้นมาเก็บไว้ในถังน้ำแข็งที่เตรียมไว้ แล้วก็นำลงไปดักต่อไปอีก ซึ่งคนหนึ่งนำที่ดักปลามา 1-2 หลัง แบ่งกันตั้งดักเรียงกันตามแนวฝายน้ำล้น ขณะที่บางคนก็ใช้วิธีการหว่านแห บ้างคนก็ใช้ตุ้มในการดักปลา แล้วแต่ความชอบและถนัดของแต่ละคน
ซึ่งแต่ละวันในช่วงนี้ชาวบ้านหาปลาได้กันเป็นจำนวนมาก ส่วนมากเป็นปลาตะเพียน ปลาขาว บางรายได้ปลาถึงวันละ 10-20 กิโลกรัม แบ่งไปไว้ทำอาหารในครอบครัวและแบ่งขาย โดยจะมีคนมาซื้อกันสดๆ หน้าฝาย ขายกิโลกรัมละ 50 บาท หากเป็นปลากดขายในราคา กก.ละ 200 บาท ทำให้ช่วงนี้ชาวบ้านที่หาปลาแต่ละคนมีรายได้จากการหาปลาขายในแต่ละวัน 500 -1,500 บาทเลยทีเดียว
นายทองดี บุญลี บ้านละลูน ม.2 ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ บอกว่าตนมาตั้งแต่เช้า วันนี้ได้ประมาณ 10 กว่ากิโลกรัม ปกติทำงานไม่ได้มาทุกวัน วันไหนหยุดหรือว่างจากงานก็จะพาลูกสาวมาตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นก็กลับ ปลาที่ได้ก็จะนำไปทำกับข้าวกินเองบ้าง ขายบ้าง พอได้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวในช่วงโควิด-19 ระบาด หากเหลือเยอะก็แบ่งให้เพื่อนบ้านกินบ้าง ปลาที่ได้จากการดักตาข่ายแบบนี้ ส่วนมากจะเป็นปลาขาวกับตะเพียน ขายในราคา กก.ละ 50 บาท วันหนึ่งได้ประมาณห้าร้อยถึงพันกว่าบาท
นายอม ดีมั่น อายุ 57 ปี ชาวบ้านโคกจ๊ะ ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ บอกว่าตนมาใส่ตุ้มดักปลาทุกวัน หลังจากมีฝนตกลงมาในช่วงนี้ ทำให้น้ำที่ฝายทุ่งมน ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ล้นและไหลลงมาที่ฝายบ้านใหม่ ปลาที่ตนดักได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลากดและปลาแขยง ลงดักตอนช่วงเย็นพอตอนเช้าก็มาเก็บกู้ ครั้งหนึ่งได้ปลาประมาณ 2-4 กก. ก่อนนำไปขายในราคา ปลากด กก.ละ 200 บาท ปลาแขยง กก.ละ 150 บาท.-สำนักข่าวไทย