สมุทรปราการ 7 ก.ค.-เปิดภาพสภาพแวดล้อมรอบโรงงานหมิงตี้เคมีคอล พบตั้งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุมากว่า 30 ปี ก่อนมีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขณะที่อาจารย์สถาปัตย์ จุฬาฯ เผยผังเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องปรับพื้นที่ให้สอดคล้อง
ถ้าดูตามแผนที่เปรียบเทียบช่วงระยะเวลา จะเห็นว่าโรงงานหมิงตี้เคมีคอลตั้งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่ พ.ศ.2532 ก่อนหน้ากฎหมายการจัดการผังเมืองของโรงงานอุตสาหกรรมจะถูกบังคับใช้ แล้วภายหลังจึงมีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานรอบโรงงาน
ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์สถาปัตยกรรมผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าผังเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมตั้งตรงไหนแล้วจะต้องอยู่ตรงนั้นตลอดไป สิ่งที่ควรทำคือการดูว่าบริเวณดังกล่าวควรเป็นย่านอุตสาหกรรมหรือควรพัฒนาที่อยู่อาศัย หากควรเป็นอย่างแรกก็ต้องปรับที่อยู่อาศัยให้ไปในทิศทางอื่น แต่หากพิจารณาแล้วว่าควรเป็นบริเวณการขยายตัวของเมืองและชุมชน หากเป็นอุตสาหกรรมเบา ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ก็อาจอยู่กับชุมชนได้
หากโรงงานตั้งเมื่อ พ.ศ.2532 ต้องย้อนดูว่าผังเมืองบริเวณนั้นขณะนั้นกำหนดไว้เป็นอะไร หากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โรงงานจะไม่ถือว่าผิดในเวลานั้น ต่อมาภายหลังการตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่โดยรอบของกิ่งแก้วถูกเปลี่ยนเป็นย่านพาณิชยกรรมที่ส่งเสริมด้านธุรกิจตามนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายผังเมืองฉบับ พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรค 2 มีการกำหนดให้คณะกรรมการผังเมืองสั่งการ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง เช่น จัดการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงออก แต่ประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเลย ปัญหาในครั้งนี้จึงถือว่ามีความผิดกันทั้งหมดที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง และจะเกิดขึ้นซ้ำอีกหากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย