ภูมิภาค 15 มิ.ย. – โผล่อีกหลายพื้นที่ ชาวบ้านร้องสร้างเสาไฟส่องสว่างแพงเกินจริง โดยที่ จ.ตรัง พบเสาไฟโซลาร์เซลล์ ต้นละ 200,000 บาท ส่วนที่ จ.ระยอง ชาวบ้านข้องใจตั้งเสาไฟต้นละเป็นแสนมานานกว่า 2 ปี แต่ไม่เคยเปิดไฟให้ชาวบ้านใช้
ชาวบ้านบริเวณรอบวงเวียนอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ถนน ค.2 เขตติดต่อระหว่างเขตเทศบาลนครระยอง กับเทศบาลตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง ข้องใจมานานกว่า 2 ปี เกี่ยวกับเสาไฟแมส หรือต้นเสาไฟส่องสว่างขนาดใหญ่สูงกว่า 20 เมตร ราคานับแสนบาท ที่ตั้งสูงตระหง่านอยู่กลางถนนสาย ค.2 ด้านข้างวงเวียนอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นของหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด จัดสรรงบประมาณสร้างขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ทำไมไม่เคยเปิดไฟส่องสว่าง ทำให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวและผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบนถนนสายนี้คาใจ สร้างให้สิ้นเปลืองงบประมาณทำไม ในเมื่อสร้างแล้วไม่เปิดไฟส่องสว่างให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์
ชาวบ้าน เล่าว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่มีหน่วยงานตั้งเสาไฟแมสไฟส่องสว่างต้นนี้ขึ้น ไม่เคยเปิดไฟส่องสว่างให้เกิดความสว่างไสวในบริเวณนี้สักครั้งเดียว แต่จะเปิดเพียงเสาไฟส่องสว่างต้นขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ติดกันเท่านั้น ทั้งที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์สุนทรภู่แสงสว่างมีไม่เพียงพอ ยามค่ำคืนมืดมิด จนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้ทรัพย์สินเสียหาย ผู้คนบาดเจ็บ เพราะถนนเป็นทาง 5 แยก มียวดยานวิ่งไปมาหนาแน่น
จึงอยากฝากถามถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าสร้างขึ้นมาทำไม ถ้าไม่เปิดไฟให้ส่องสว่างเพื่อใช้ประโยชน์ น่าจะนำเงินงบประมาณก้อนนี้ไปสร้างประโยชน์อื่นจะดีกว่าหรือไม่ หรือเพียงอยากสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการใช้เงินหลวงให้หมดไป หรือสร้างเพื่อประดับคู่อนุสาวรีย์สุนทรภู่เพียงเท่านั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาช่วยตอบข้อข้องใจนี้ให้ชาวบ้านหายสงสัยสักที
โผล่อีกเสาไฟโซลาร์เซลล์ต้นละ 2 แสน ชาวบ้านร้องแพงเกินจริง
ที่บ้านบ่อน้ำพุร้อนเค็มควนสระ ม.4 และ ม.6 บ้านควนสระ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พบโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ของ อบต.สุโสะ ที่ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 และยังมีอีก 3 โครงการ ที่ดำเนินการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ในลักษณะเดียวกัน งบประมาณรวมทั้งหมด 4 โครงการ ประมาณ 1.8 ล้านบาท และมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับงานไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียล ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับราคาตลาด ที่มีการขายกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ ปรากฏว่ามีราคาเพียงแค่หลักพันบาทเท่านั้น
นายเด่นทยา วุ่นแก้ว ปลัด อบต.สุโสะ ยอมรับการสร้างไฟโซลาร์เซลล์ ช่างยังไม่ชำนาญ เพราะเป็นเรื่องใหม่ สาเหตุที่สร้างมาจากความต้องการของชาวบ้านจำนวนมากที่มาใช้บริการบ่อน้ำพุเค็ม บำบัดรักษาอาการปวดเมื่อย ซึ่งกว่าจะใช้บริการเสร็จก็อยู่ในช่วง 3-4 ทุ่ม ถนนสายดังกล่าวมืดมาก ทาง อบต. ต้องอาศัยไฟโซลาร์เซลล์ช่วยเพิ่มความสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะช่วยประหยัดค่าไฟ โดยสร้าง 3 เสา ใช้งบประมาณ 400,000 กว่าบาท บางคนอาจมองว่าไม่คุ้มทุน แต่สำหรับชาวบ้านและชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างน้อยเขาก็ได้มีความสว่างเป็นที่พึงพอใจ
ขณะที่นายสุรินทร์ แนมไสย ผอ.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตรัง กล่าวว่า กรณีนี้ สตง. ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นทาง อบต. ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนถูกต้องทุกอย่าง ไม่ได้ปฏิบัตินอกเหนือจากหลักเกณฑ์ เพราะมีการสุ่มราคาแล้ว 3 ร้าน ไม่เข้าพฤติการณ์การทุจริต เพียงแค่ไม่ได้รอบคอบ และไม่มีราคากลาง รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการของทาง อบต. เป็นคนพิจารณาเอง โดยทาง สตง. ได้สั่งการให้คืนงบประมาณในส่วนที่เกินความเป็นจริงไปแล้ว.-สำนักข่าวไทย